กกร. ค้านขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 400 บาท หวั่นกระทบศก.-การลงทุน

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยระบุว่า การปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีปัญหาจากปัจจัยหลายประการที่มีความผันผวน อาทิ ค่าเงินบาท ราคาพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างประเทศ

อีกทั้ง จะเป็นการกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมี.ค. 67 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) อยู่ที่ 62.39% ซึ่งลดลง 4.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทย

“การปรับขึ้นค่าแรงที่ขัดต่อกรอบของกฎหมายส่งผลให้สถานการณ์แย่ลง ปีนี้มีการปรับขึ้นไปแล้วบางส่วนสองครั้ง ผู้ประกอบการยังปรับตัวไม่ได้ ถ้าปรับอีกครั้งที่ 3 จะกระทบรุนแรง โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร ค่าแรงเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว จะไปมองแต่ภาคอุตสาหกรรมที่มี 6 ล้านคนไม่ได้ ยังมีภาคเกษตรอีก 11 ล้านคน ภาคบริการอีกกว่า 10 ล้านคน รวมแล้วราว 38 ล้านคน จะประกาศอะไรออกมาก็ขอให้รอบคอบ” นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าว

 

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ได้แก่

1. กกร. เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ของแรงงานไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรปรับตามที่กฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

2. กกร. ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ควรใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และประสิทธิภาพของแรงงาน

3. การปรับอัตราจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน (Pay By Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงอัตราค่าจ้างของแรงงานแรกเข้าที่ยังไม่มีฝีมือ ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งส่งเสริมมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานให้ความสำคัญกับการ UP-Skill & Re-Skill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity)

4. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรให้มีการรับฟังความคิดเห็น และศึกษาถึงความพร้อมของแต่ละพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ รวมทั้งควรให้มีการหารือร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง และใช้กลไกจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่หรือประเภทธุรกิจเช่นกัน

5. นอกเหนือจากการยกระดับรายได้ของแรงงานแล้ว ภาครัฐควรเข้ามาดูแลค่าครองชีพในการดำรงชีพของแรงงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ภาคแรงงานและประชาชน เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยสร้างความสมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพให้กับแรงงานให้สอดคล้องตามภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กกร. จะทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ และหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศโดยจะเข้ายื่นข้อเสนอดังกล่าวต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ในวันที่ 13 พ.ค.นี้ พร้อมกันนี้จะมีการหารือกับภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดถึงผลกระทบและจัดทำข้อเสนอต่อการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด โดยจะยึดกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เป็นสำคัญ

 

ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า กกร.ไม่ได้คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ขอให้มีการพิจารรณาในอัตราที่เหมาะสม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นมามากถึง 21% ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุม กกร.ได้ใช้เวลาในการหารือกันค่อนข้างนาน และเชื่อว่าจะสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำเรื่องไปฟ้องร้องเป็นคดีความ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top