ทองคำนิวยอร์กปิดลบ $1 นลท.ขายหลังความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ลด

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันศุกร์ (3 พ.ค.) แม้ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐอ่อนแอกว่าคาดก็ตาม โดยสัญญาทองคำยังคงปรับฐานหลังจากทะยานขึ้นอย่างมากในเดือนเม.ย. เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไร ขณะที่ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ลดลง และนักลงทุนจับตาการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.00 ดอลลาร์ หรือ 0.04% ปิดที่ 2,308.60 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.39 เซนต์ หรือ 0.52% ปิดที่ 26.69 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 2.70 ดอลลาร์ หรือ 0.28% ปิดที่ 965.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 9.30 ดอลลาร์ หรือ 0.99% ปิดที่ 948.40 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว หลังจากพุ่งขึ้นสูงถึง 2,320.78 ดอลลาร์ในทันทีหลังจากการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐที่ต่ำกว่าคาด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 175,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 238,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8%

ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 4.0% และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

แม้ข้อมูลการจ้างงานที่อ่อนแอได้ตอกย้ำการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้ ซึ่งควรจะเป็นแรงหนุนทองที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย แต่กลับกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงแทน ซึ่งทำให้ความต้องการทองคำลดลง

นอกจากนี้ สัญญาทองยังไม่ได้รับแรงหนุนจากการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ

สัญญาทองคำร่วงลง 5.7% หรือราว 140 ดอลลาร์แล้วนับตั้งแต่แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 2,431.29 ดอลลาร์ในเดือนเม.ย. หลังได้แรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางและแรงซื้อที่แข็งแกร่งของธนาคารกลาง

นักวิเคราะห์รายหนึ่งระบุว่า “มีความวิตกว่า ราคาทองอาจลดลงอีก หากไม่มีแรงซื้อในเอเชีย โดยราคาอาจลดลงถึง 2,150 ดอลลาร์”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top