นพ.วิทยา วันเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บมจ.โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) คาดว่า ภาพรวมการเติบโตของโรงพยาบาลพระรามเก้าในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 13-14% ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้ามารับบริการในโรงพยาบาลพระรามเก้าเติบโตแบบ Double-Digit เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าของการระบาดโควิด-19 มีหลายคนเข้ามาตรวจสุขภาพและพบโรคเพิ่มเติม หรือบางรายพบโรคแทรกซ้อน ทำให้ต้องรักษาต่อเนื่อง ซึ่งโรงพยาบาลของเราก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่ทันสมัย
ในไตรมาส 1/67 ที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอกที่เข้ามารักษาภายในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยนอก ซึ่งหลังจากที่ผ่านพ้นสถานการณ์โควิดมาแล้ว เราพบว่า คนไทยและทั่วโลกมีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยศูนย์การแพทย์ในโรงพยาบาลพระรามเก้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีปัญหาโรคปอดและระบบทางเดินหายใจ, ภูมิแพ้, ศูนย์หู คอ จมูก, ศูนย์กุมารเวชกรรม, ศูนย์ตรวจสุขภาพ, ศูนย์อายุรกรรมและโรคมะเร็ง, ศูนย์ศัลยกรรม, ศูนย์หัวใจ รวมไปถึงสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามารับคำปรึกษาและเข้ามารักษาเพิ่มขึ้น
ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ กลุ่ม Wellness หรือผู้ที่อยากดูแลเรื่องสุขภาพให้ดีขึ้น รวมทั้งการดูแลเรื่องสายตา ด้วยการผ่าตัดแก้ไขปัญหาการมองเห็นด้วยเลสิค ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยากรับการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิที่ดีโดยไม่ต้องใส่แว่น นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนของโรคต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเราพบว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะโรคไต หัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และโรคทางกระดูกและข้อ ซึ่งสอดรับกับสังคมผู้สูงอายุ กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มที่เข้ามาดูแลสุขภาพและป้องกันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ล่าสุด ทางโรงพยาบาลพระรามเก้าได้มีการปรับปรุงพื้นที่ในโรงพยาบาล เพื่อรับรองผู้รับบริการทางการแพทย์ พร้อมทั้งขยายห้องผ่าตัดเพิ่มเติม และติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยในอนาคต ขณะเดียวกันเรายังได้วางรากฐาน Digital Hospital เพื่อยกระดับการให้บริการทุกภาคส่วนด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย โดยมีคนไข้ หรือผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางสำคัญอีกด้วย
นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลพระรามเก้ายังให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศ CLMV คือ พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เข้ามารับการรักษาโรคยากซับซ้อน นอกจากนี้กลุ่มผู้รับบริการจากประเทศจีนก็เข้ามารับบริการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รักษาโรคเล็กน้อยจนถึงอุบัติเหตุใหญ่ๆ ที่จำเป็นจะต้องผ่าตัด ส่วนอีกกลุ่มเป็นนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจเข้ามารับการรักษาโรคเฉพาะทาง หรือที่เรียกกันว่า Medical tourism ซึ่งเทคโนโลยีของประเทศนั้นๆ อาจจะยังเทียบกับประเทศไทยไม่ได้ เช่น ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก หรือ IVF การผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่ง เรื่องของการตรวจสุขภาพ รวมถึงการทำทันตกรรม
“โรงพยาบาลพระรามเก้าได้รับการยอมรับจากคนไข้กลุ่มตะวันออกกลาง หรือ กลุ่มอาหรับมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มการเติบโตขึ้นค่อนข้างชัดเจนในช่วงปีที่ผ่านมา จากเดิมรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติเฉลี่ยอยู่ที่ 13-14% ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 15-16% เมื่อเทียบกับรายได้รวมระหว่างคนไทยแล้วก็คนต่างชาติอีกด้วย”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 67)
Tags: PR9, วิทยา วันเพ็ญ, โรงพยาบาลพระรามเก้า