นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 เม.ย.67 ดังนั้น เพื่อเป็นการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรมบัญชีกลางจึงขอให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้
1. เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการ หรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาค ดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป
2. รายการปีเดียว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567
3. รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ควรดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567
4. หากคาดว่ามีรายการงบประมาณที่จะไม่สามารถก่อหนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้หน่วยรับงบประมาณแจ้งสำนักงบประมาณ เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้การบริหารงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันมิให้เงินพับตกไปเมื่อสิ้นปีงบประมาณ
5. ให้หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณ รวมทั้งทุนหมุนเวียนภายใต้สังกัด กำกับดูแลเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลให้กรมบัญชีกลาง ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
6. ดำเนินการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนภายในเดือนกรกฎาคม 2567
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า สำหรับหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากสำนักงบประมาณ และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้แล้ว ให้เร่งลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือโดยเร็ว ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้นำข้อมูลรหัสงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2567 และผลการยกเลิก PO ที่ใช้รหัสงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน เผยแพร่บนเว็บไซต์ New GFMIS Thai เรียบร้อยแล้ว
นางแพตริเซีย ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถเบิกจ่ายงบได้ทันภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยกรมบัญชีกลาง ได้ออกมาตรการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ประกอบด้วย
1. การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้าง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 5,000,000 บาท
2. การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป
(1) การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้าง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงระยะเวลาในการให้ผู้ประกอบการเตรียมการจัดทำเอกสารเพื่อยื่นข้อเสนอ
สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ
(2) การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้างที่ปรึกษา และเผยแพร่ประกาศ และเอกสารการจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ โดยระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 เม.ย. 67)
Tags: กรมบัญชีกลาง, งบประมาณ, ราชกิจจานุเบกษา, แพตริเซีย มงคลวนิช