นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเร่งรีบ และการส่งเสริมการส่งออกด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการกระจายรายได้อย่างรุนแรง
นโยบายมุ่งเน้นการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติด้วยค่าแรงราคาถูก ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมา ต้องเข้ามาแทรกแซงแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ สร้างข้อกีดกันในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือองค์กรลูกจ้าง ทำให้ “ขบวนการแรงงาน” อ่อนแอ และขาดเอกภาพ แม้แรงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคจะเพิ่มขึ้นในระบบการผลิตของไทย แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้ระบบการผลิตของไทยมีความสามารถในการแข่งขันมากพอที่จะรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกไว้ได้
การเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานและทุนด้วยการลงทุนนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง และควรเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับ 40% จึงจะสามารถทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปอยู่ในระดับ 5% หากสามารถรักษาระดับการเติบโตได้เช่นนี้ประมาณ 13 ปี ไทยก็น่าจะก้าวข้ามพ้นกับดักประเทศรายได้ระดับปานกลางไปได้
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การเพิ่มผลิตภาพทั้งทุนและแรงงาน เป็นพื้นฐานสำคัญของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจระยะยาว อัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานที่ผ่านของไทยไม่ได้ลดลง แต่ไม่เพียงพอต่อการรองรับการผลิตแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ อาจทำให้ตำแหน่งแรงงานมนุษย์หดหายมากเกินไปจนทำให้จีดีพีโดยรวมอาจลดลงได้ แต่แนวโน้มที่คาดการณ์ได้แน่นอน คือ ส่วนแบ่งจีดีพีที่เคยเป็นค่าจ้างแรงงานมนุษย์จะลดลงอย่างชัดเจน
ดังนั้น จึงขอเสนอให้มีการปฏิรูประบบแรงงานรับมือสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI และเพิ่มความเป็นธรรม และความสามารถแข่งขัน การเร่งอัตราการขยายตัวทางผลิตภาพขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยดีขึ้น และตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมนุษย์ที่จะรุนแรงขึ้นในทศวรรษหน้า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์จักรกลอัตโนมัติ จะทำให้อาชีพและตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไปแบบพลิกโฉม จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาเรียนรู้ ระบบพัฒนาทักษะ และระบบแรงงานทั้งระบบ เพื่อให้แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI และระบบหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในหลายอย่าง พบว่าสมองกลอัจฉริยะ หรือ AI สามารถทำงานได้ดีกว่าแรงงานมนุษย์ และเสริมการทำงานของมนุษย์ ระบบ Software คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการคำนวณ ประกอบกับการใช้ Big Data และ Machine Learning สามารถทำงานทางด้านการวิเคราะห์ การคำนวณ การประเมินการลงทุน การศึกษา การวิจัยได้อย่างดี เป็นต้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การฝึกอบรม และเพิ่มทักษะให้แรงงานตลอดเวลาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การเพิ่มผลิตภาพแรงงานและทุน จำเป็นต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ลงทุนทางด้านการศึกษา เพื่อให้คุณภาพแรงงานตรงกับความต้องการของตลาด ลดการผูกขาด และเพิ่มการแข่งขันเพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เกิดขึ้น ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงระบบการผลิต ลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
“ทำอย่างไรที่สามารถทำให้แรงงานใช้ชั่วโมงการทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น ซึ่งจะสะท้อนคุณภาพแรงงาน (Labor Quality) ทำอย่างไรจะเพิ่มสัดส่วนของทุนต่อแรงงาน (Capital per Labor Ratio) จะทำให้แรงงานสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น หากสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้มากขึ้น บนมูลค่าการลงทุนเท่าเดิม ก็สะท้อนให้เห็นว่า Total Factor Productivity ของเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า หากในอนาคต การใช้ AI มีผลกระทบต่อการจ้างงานแรงงานมนุษย์ ควรใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเข้มงวดเรื่องการเลิกจ้าง มากกว่าการใช้วิธีเก็บภาษีหุ่นยนต์และภาษี AI เพราะการเก็บภาษีอาจไปสกัดกั้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ หรือการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับ “กลุ่มผู้ใช้แรงงาน” สามารถรวมกลุ่มเพื่อจัดตั้งองค์กรแรงงานได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้นโดยรัฐบาลรับรองอนุสัญญาไอแอลโอ ILO 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรอง
นายอนุสรณ์ เห็นว่า ต้องมีการปฏิรูประบบแรงงานให้สอดรับกับพลวัตตลาดแรงงาน ไทยมีปัญหาการกระจุกตัวของการผลิตและการจ้างงานสูง เกิดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ แต่ระบบประกันสังคมช่วยสร้างระบบสวัสดิการขนาดใหญ่ ครอบคลุมแรงงานในระบบทั่วทั้งประเทศ และสร้างระบบการออมแบบบังคับเพื่อดูแลผู้สูงอายุในวัยเกษียณ
อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสังคมจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความมั่นคง และความยั่งยืนทางการเงินในระยะยาว รัฐบาลควรมีการจัดระบบการทำงาน และคุ้มครองแรงงานของคนทำงานในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ตามความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น แรงงานภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไม่ปรากฎสถานะความเป็นลูกจ้างนายจ้างอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแรงงานมากขึ้นตามลำดับตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคการผลิตและบริการ แรงงานภาคเกษตรกรรมปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สังคมไทยมีลักษณะพิเศษเมื่อเทียบกับประเทศเอเชียอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในมิติที่ไทยสามารถพัฒนาอุตสาหกรรม โดยยังคงรักษาภาคเกษตรกรรมในครัวเรือนได้ค่อนข้างดี ในรูปแบบ “เกษตรกรที่มีอาชีพเสริม”
นอกจากนี้ โครงสร้างการจ้างงานไทย ยังมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ทำงานใน Informal Sector ที่ยังไม่มีสวัสดิการหรือการคุ้มครองแรงงานดีเท่าที่ควร ลักษณะการจ้างงานมีการกระจุกตัวในบริษัท หรือกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้นตามการกระจุกตัวของระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานหญิงอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชีย มีการจ้างงานชั่วคราว สัญญาจ้างระยะสั้นเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความยืดหยุ่นของการจ้างงานในตลาดแรงงาน แต่แรงงานกลุ่มนี้ มักไม่มีความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการที่ดี รัฐจำเป็นต้องไปจัดระเบียบให้มีมาตรฐานการจ้างงานที่เป็นธรรม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 67)
Tags: อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย, แรงงาน