นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีที่สถาบันการเงินตอบสนองภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้หารือร่วมกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งเพื่อขอความร่วมมือในการช่วยบรรเทาภาระประชาชนว่า ไม่ได้มีการสั่งการใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเป็นการใช้ความสัมพันธ์และหารือกันถึงภาวะการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจบุน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยกำลังกดทับประชาชนอยู่
ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังนั้น รัฐบาลสามารถสั่งการให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่า หากดำเนินการแค่เฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่ได้มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยในตลาด จะทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งไม่เป็นการดี
ทั้งนี้ นายจุลพันธ์ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้แซงแทรงการทำงานของใคร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรอิสระที่มีความเป็นอิสระ แต่ในพื้นฐานคำว่าอิสระนั้น ไม่ได้มีความอิสระต่อประชาชน ต่อความรับผิดชอบในเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน ทุกคนมีความรับผิดชอบเดียวกัน ซึ่งเรื่องที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการไปนั้น แน่นอนว่าทุกคนต่างมองว่า ใครมีช่องทางอะไรในการช่วยประชาชน ก็เชื่อว่าจะไม่มีใครลังเลในการดำเนินการ เพราะเรายึดเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง รัฐบาลไม่ได้ดูแต่เพียงเสถียรภาพของสถาบันการเงิน หรือไม่ได้ดูแต่เรื่องเงินเฟ้อเท่านั้น รัฐบาลมีการพิจารณาในมิติที่มากกว่าหน่วยงานอื่น
“ในจุดนี้รัฐบาลได้พูดหลายครั้งแล้วว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยสูง เป็นภาระกับประชาชนมาก เราอยากเห็นตัวเลขที่ชัดเจน เช่น เรื่องกำไรของธนาคารพาณิชย์ไตรมาสแรกที่ 6 หมื่นล้านบาท นั่นคือเงินสภาพคล่องของประชาชนที่ถูกดูดซับออกไปจากตลาด นายกรัฐมนตรีก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งเพื่อมาพูดคุยกัน ซึ่งทั้ง 4 ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว มีสัดส่วนมากในตลาดปัจจุบัน” นายจุลพันธ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 67)
Tags: จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, เศรษฐา ทวีสิน