จับตาแบงก์ชาติเอเชียคุมเข้มการเงินสกัดเงินอ่อน หลังแบงก์ชาติอินโดฯ ขึ้นดบ.

นักลงทุนกำลังจับตาการดำเนินนโยบายแบบเป็นโดมิโน่ครั้งถัดไปในเอเชีย ท่ามกลางการเร่งหาทางรับมือกับภาวะเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า หลังธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสวนทางการคาดการณ์ตลาด เพื่อสกัดไม่ให้เงินรูเปียห์อ่อนค่าเมื่อวันพุธ (24 เม.ย.)

สกุลเงินญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ไต้หวัน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ต่างซื้อขายที่ประมาณระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะดำเนินการเชิงรุกเพื่อยับยั้งการอ่อนค่าดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่นสัญญาสวอปเงินวอนของเกาหลีใต้และเงินริงกิตของมาเลเซีย คาดการณ์น้อยลงว่าธนาคารกลางเกาหลีใต้และธนาคารกลางมาเลเซียจะดำเนินการผ่อนคลายทางการเงิน

การที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติคุมเข้มทางการเงินสวนทางการคาดการณ์ในสัปดาห์นี้ ได้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่ไม่มั่นคงของบรรดาธนาคารกลางในเอเชีย ในขณะที่พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับสูงยาวนานขึ้น โดยเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายทั่วเอเชียต้องเลือกระหว่างการละทิ้งการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ หรือปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง

“การที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียเซอร์ไพรส์ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทำให้ธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ในตลาดเกิดใหม่ตื่นตัว” นายเฟรเดริก นอยแมนน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอเชียของเอชเอสบีซี โฮลดิงส์ ระบุ “แม้เงินเฟ้อจะเริ่มกลับคืนสู่ระดับปกติแล้วในเกือบทุกประเทศของเอเชีย แต่เงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าได้กดดันให้เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางในเอเชียระมัดระวังตัว”

ในขณะที่จีนกำลังต่อสู้กับวิกฤตที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจซบเซา และหยวนอ่อนค่าติดต่อกันหลายเดือน ประเทศอื่น ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ได้เริ่มต้นปีนี้ด้วยการส่งสัญญาณในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่แนวโน้มดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว หลังเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องของสหรัฐทำให้นักลงทุนปรับลดคาดการณ์เกี่ยวกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

การคาดการณ์ว่าเฟดจะชะลอการผ่อนคลายทางการเงินอาจทำให้ผลตอบแทนของสหรัฐสูงกว่าเอเชียต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้กองทุนทั่วโลกถอนการลงทุนออกจากเอเชียจนฉุดให้เงินตราต่าง ๆ ในเอเชียอ่อนค่าลง ยกตัวอย่างเช่นอินเดียที่มีแนวโน้มจะเผชิญภาวะเงินทุนไหลออกจากตราสารหนี้เป็นเดือนแรกในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่ไทยและอินโดนีเซียก็เผชิญการไหลออกจากตราสารหนี้สุทธิเช่นเดียวกัน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แม้ทั้งญี่ปุ่นและไต้หวันได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมี.ค. แต่ค่าเงินของญี่ปุ่นและไต้หวันยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงทะลุ 155 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 3 ทศวรรรษในสัปดาห์นี้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงว่าทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) ว่าการตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนนี้ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายมีทางเลือกในการรับมือกับความท้าทายที่คาดไม่ถึงทั้งในระดับโลกและภายในประเทศ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 เม.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top