เกาหลีใต้เล็งผ่อนปรนกฎการรายงานในตลาดพันธบัตร หวังติดดัชนีระดับโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงใน 3 รายว่า รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณาผ่อนปรนข้อกำหนดการรายงานการซื้อขายพันธบัตรแบบเรียลไทม์สำหรับนักลงทุนในตลาดพันธบัตรมูลค่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของเกาหลีใต้ เนื่องจากเกาหลีใต้ต้องการให้พันธบัตรของตนมีรายชื่อในดัชนีพันธบัตรโลกของ FTSE Russell

กระทรวงการคลังเกาหลีใต้และคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการเงินของเกาหลีใต้ (FSS) อยู่ระหว่างการหารือเพื่อเปลี่ยนข้อกำหนดที่ธนาคารต้องรายงานการซื้อขายพันธบัตรใด ๆ นอกตลาด (OTC) ต่อทางการภายใน 15 นาทีหลังการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ กฎดังกล่าวถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดพันธบัตรของเกาหลีใต้ นอกจากนี้ กฎดังกล่าวยังต้องได้รับการแก้ไขเนื่องจากพันธบัตรเกาหลีใต้จะย้ายไปใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินของยูโรเคลียร์ (Euroclear) ตั้งแต่เดือนก.ค.ปีนี้

แหล่งข่าว ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังเกาหลีใต้ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปในการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใด ๆ ในกฎดังกล่าว แต่อาจมีการปรับข้อกำหนดเรื่องความถี่ในการรายงานการซื้อขายพันธบัตรให้เหลือเพียงวันละครั้งหรือสองครั้ง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎเส้นตายการรายงานก่อน 19:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นอีกด้วย

“สถาบันต่างประเทศจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ข้อกำหนดให้ต้องรายงานธุรกรรมด้วยตนเองทุก ๆ 15 นาทีนั้น เป็นข้อจำกัดในการดำเนินธุรกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และเรากำลังดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเรื่องดังกล่าว” แหล่งข่าวระบุ

“เรากำลังสื่อสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผ่อนปรนข้อกำหนดเหล่านี้” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ แผนการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสอดคล้องกับการปฏิรูปล่าสุดที่เกาหลีใต้ได้ดำเนินการ เนื่องจากเกาหลีใต้ต้องการสลัดออกจากการถูกจัดประเภทให้เป็น “ตลาดเกิดใหม่” และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีใหญ่ ๆ ในตลาดโลก

ด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า หากเกาหลีใต้ติดดัชนีใหญ่ ๆ เช่น ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลโลก (WGBI) ของ FTSE Russell ก็จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศได้หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

แหล่งข่าวระบุว่า พันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้อยู่ในรายชื่อเฝ้าติดตามของ FTSE Russell เพื่อพิจารณารวมเข้าในดัชนี WGBI มาตั้งแต่เดือนก.ย. 2565 และการผ่อนปรนข้อกำหนดการรายงานทุก 15 นาทีอาจช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ดัชนีดังกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top