AIMC เล็งเสนอผลระดมสมองครั้งใหญ่ชูโมเดลตลาดหุ้นญี่ปุ่น-อินเดียพลิกฟื้นตลาดหุ้นไทย

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) จัดงานสัมมนาระดมความเห็น “แนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยและการส่งเสริมการออมผ่านกองทุนรวม” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนไทยโดยได้รับทุนสนับสนุนการจัดงานจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) และได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทุนของประเทศญี่ปุ่นและอินเดียร่วมแชร์ประสบการณ์ ภายใต้หัวข้อ “Platform for Sustainable Recovery & Springboard for Accelerating Growth” เพื่อระดมความคิด เฟ้นหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดทุนและขยายฐานผู้ลงทุนไทยได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Takahiro Kawabe, Managing Director & CEO of Nomura Asset Management Singapore Limited และ Mr.Sachin Mahajan, Business Head, Aditya Birla Sun Life Asset Management Company PTE, Ltd ร่วมแชร์ประสบการณ์

นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคม AIMC สรุปผลจากการจัดงานครั้งนี้ว่า ตลาดหุ้นไทยเคยทำสถิติดัชนี SET สูงสุดเมื่อปี 2561 ที่ระดับ 1,850 จุด ขณะที่ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ตลาดหุ้นหลายแห่งในโลกได้มีการทำลายสถิติ “สูงสุดตลอดกาล” ขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะสองประเทศที่โดดเด่นมาก ๆ ของเอเชียคือ ญี่ปุ่นและอินเดียที่ดัชนีตลาดหุ้นเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวในรอบระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ AIMC จึงได้ระดมความคิดเห็นของอุตสาหกรรม กลั่นกรองหาแนวทางจากพัฒนาการอันโดดเด่นในระดับสากลที่ตลาดไทยจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยพบว่ามาตรการที่ทำให้ตลาดทุนและกองทุนรวมของประเทศญี่ปุ่นและอินเดียเติบโตสูงสุด ประกอบด้วยแนวทางที่สำคัญ 4 ด้านได้แก่

1) การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนแบบองค์รวม ที่ครอบคลุมทั้งนโยบายการเงิน การคลัง การส่งเสริมการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน การปรับโครงสร้างตลาดทุน มาตรการทางภาษีเพื่อการออม อาทิ บัญชีการออมแบบปลอดภาษี (NISA) มาตรการจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานกำกับดูแลในการส่งเสริมการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าของผู้ถือหุ้น (Corporate Actions) อาทิ บัญชี โครงการซื้อหุ้นคืนที่ใหญ่ที่สุด มีบริษัทจดทะเบียนของญี่ปุ่นเข้าร่วมถึง 1,033 บริษัท จาก 3,900 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวมสูงถึง 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น

2) การสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดให้มีระบบกลางของทะเบียนครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ (Central Digital Infrastructure) เพื่อที่ภาคธุรกิจการเงินการลงทุน SMEs และบริษัท Start-Up ทั้งประเทศสามารถใช้ในการยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อลดต้นทุนการเปิดบัญชีและการทำรายการแบบต้นทุนต่ำสุด ซึ่งช่วยให้การลงทุนสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มความปลอดภัยและลดปัญหาการฟอกเงินและการหลอกลงทุนได้อย่างเป็นรูปธรรม

3) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) เพื่อขยายฐานนักลงทุน ซึ่งสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่หรือประชาชนที่อยู่จังหวัดห่างไกล การใช้นวัตกรรมและสื่อออนไลน์ เพื่อกระตุ้นและต่อยอดการลงทุน และรวมถึงส่งเสริมการลงทุนแบบต่อเนื่องและสม่ำเสมอ (DCA) และ

4) การรวมพลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนในทุกช่วงวัยและทุกสาขาอาชีพ

“AIMC เล็งเห็นว่า หลายมาตรการข้างต้นสามารถมานำมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยจะนำเสนอเป็นแนวทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงาน ก.ล.ต. และภาครัฐต่อไป” นางชวินดา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 67)

Tags: ,
Back to Top