แบงก์ชาติ ระบุ กนง.พร้อมทบทวนนโยบายดอกเบี้ยหากมีข้อมูลใหม่-มองบาทอ่อนตามภูมิภาคยังไม่น่ากังวล

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า กนง. พร้อมที่จะทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย หากมีข้อมูลใหม่เข้ามาเพิ่มเติม และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่อมุมมองเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ยึดติดในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพียงแต่จะต้องพิจารณาผลกระทบ ความยั่งยืน และนัยต่อกรอบการทำนโยบายว่าเพียงพอหรือไม่
“เราไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องอยู่ในระดับนี้ไปตลอด (อัตราดอกเบี้ย) แต่ต้องแยกแยะ shock ที่เข้ามาว่า มีผลกระทบยั่งยืนขนาดไหน นัยต่อนโยบายมันมากพอหรือเปล่า ที่เราคุยกัน สเกล +/- 0.25% มันไม่ได้ต่างกันมาก เป็น degree ไม่ได้เยอะ คงไม่ใช่การลดดอกเบี้ยเยอะๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ เรายังมีเวลาพิจารณาให้มั่นใจ เพราะยังมีปัจจัยทั้ง upside และ downside” นายปิติ กล่าว

พร้อมระบุว่า กนง. พยายามจะดูแลให้เศรษฐกิจในภาพรวมไปอยู่ในจุดที่พอดี ซึ่งมองในช่วง medium term คือระยะปานกลาง เพราะตระหนักดีว่าข้อจำกัด หรือเครื่องมือของ ธปท. ต้องใช้เวลาพอสมควร และสิ่งที่นโยบายการเงินคาดหวังว่าจะเข้าไปช่วยได้ คือ การดูแลเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ไม่ใช่ทันทีหรือในระยะสั้น

“เหมือนเรือใหญ่ ที่เมื่อจะหันซ้าย หรือหันขวาจะช้ามาก มีโมเมนตัมของตัวเองค่อนข้างเยอะ ดังนั้นสิ่งเดียวที่นโยบายการเงินพอที่จะหวังว่าช่วยได้บ้าง คือ ระยะปานกลาง ไม่ใช่ทันที ไม่ใช่ระยะสั้น” นายปิติ กล่าว

และมองว่าปีนี้ และปีหน้ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวใกล้เคียงระดับศักยภาพ ซึ่งอัตราดอกเบี้ย และภาวะการเงินโดยรวมก็ยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

*บาทอ่อนตามภูมิภาคจากกลไกตลาด ไม่ถึงขั้นต้องเข้าดูแลเป็นพิเศษ

สำหรับสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าไปแตะระดับ 37 บาท/ดอลลาร์ในปัจจุบันนั้น นายปิติ ยอมรับว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนและอ่อนค่านำสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ซึ่ง ธปท.จับตาอยู่ เพราะไม่ต้องการเห็นตลาดทำงานไม่ปกติ (disfunction) เช่น เกิดภาวะชะงักงัน หรือสภาพคล่องลดลง แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่เห็นสัญญาณหรืออาการดังกล่าวเกิดขึ้น ดังนั้นจึงยังไม่ถึงขั้นต้องทำอะไรในเชิงนโยบาย

ทั้งนี้ การที่เงินบาทอ่อนค่าล้วนมีสาเหตุและมีที่มา ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ คือ การคงนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยาวนานขึ้น ขณะที่ปัจจัยในประเทศเอง เช่น ในช่วงไตรมาส 2 นี้ มีการส่งเงินปันผลกลับบริษัทต่างประเทศถึง 2 พันล้าน นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะเดินทางมาไทยลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2

“ปัจจัยเหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุผลให้เงินบาทอ่อนค่า ธปท.ยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องทำอะไรในเชิงนโยบาย…นโยบายด้านอัตราแลกเปลี่ยนของธปท. เราดูหลักๆ คือ กลไกการทำงาน ความผันผวนที่มากเกินไปต่อเศรษฐกิจ แต่ภาพรวมยังโอเค มีบ้างที่ผันผวนเร็ว เราก็เข้าไป (intervene) เป็นครั้งคราว สิ่งนี้ในต่างประเทศก็ทำคล้ายๆ กัน”

นายปิติระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 เม.ย. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top