ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาการฝึกงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ของ กมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ซึ่งช่วยคุ้มครองการฝึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน เนื่องจากการฝึกงานเป็นการจัดระบวนการเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้ที่เรียนมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา โดยการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาฝึกงานไม่มีลักษณะเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน มีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติงานโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อให้สำเร็จตามหลักสูตรเท่านั้นจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเช่นเดียวกับลูกจ้าง
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาฝึกงานในระดับอุดมศึกษาโดยตรง ปัญหาการฝึกงานของนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมอย่างเป็นทางการ เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่จะต้องหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้เกิดการจัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ 4 ประเด็น ดังนี้
1.สิทธิของนักเรียน นิสิต และนักศึกษาฝึกงาน การกำหนดค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยง การจัดทำประกันอุบัติเหตุ การมีสวัสดิการขั้นพื้นฐานในที่ทำงานแก่ผู้รับการฝึกอบรมฝีมือแรงานและผู้ฝึกงานอาชีวศึกษา แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองนักศึกษาฝึกงานระดับอุดมศึกษาโดยตรง ซึ่งหากกรณีมีปัญหาเกิดขึ้นโดยเฉพาะกรณีค่าตอบแทน การประสบอันตราย หรือการเจ็บป่วยจากการฝึกปฏิบัติงานอาจต้องเทียบเคียงจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งย่อมจะเกิดความยุ่งยากหรือเกิดปัญหาการตีความซึ่งจะทำให้นักศึกษาฝึกงานไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม
2.การคุ้มครองนักเรียน นิสิต และนักศึกษาฝึกงาน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามฎหมาย นั้น นักเรียนระดับอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การฝึกงานหลักสูตรการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพในสถานประกอบการ พ.ศ.2565 เรียบร้อยแล้ว
ส่วนนักศึกษาระดับปริญญาตรีควรมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องการกำหนดมาตรฐานการส่งนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการเพื่อให้นักศึกษาได้รับการคุ้มครองในระหว่างการฝึกงาน ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานกลาง เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่ละแห่งจัดทำเป็นหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการส่งนักศึกษา เข้ารับการฝึกงานในสถานประกอบการและการคุ้มครองนักศึกษาระหว่างการฝึกงานให้เหมาะสมกับหลักสูตรการเรียนการสอน โดยกระทรวงแรงงาน สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของนักศึกษาฝึกงาน ให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน
3.ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ควรสร้างและรักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปราศจากการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการสร้างความตระหนักการสร้างความรู้ความเข้าใจ การกำหนดมาตรการป้องกันและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น และตำเนินการเมื่อเกิดกรณีการร้องเรียนเรื่องการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศอย่างทันท่วงที รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมและมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศขึ้น
4.ข้อเสนอการยกระดับการคุ้มครองการฝึกงานในประเทศไทยของศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรม ศูนย์วิจัยเฉพาะทางสหวิทยาการด้านรัฐสวัสดิการและความเป็นธรรมร่วมกับอีกหลายหน่วยงานในภาคีได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การฝึกงาน พ.ศ. …. เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองและรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรได้ ในฐานะลูกจ้างคนหนึ่ง โดยสถาบันอุดมศึกษาอาจอนุญาตให้บุคลากรและผู้เรียนไปปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ได้ตามระเบียบที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนดตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562
ดังนั้น สภาสถาบันอุดมศึกษา อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรกำหนดระเบียบการฝึกงานหรือเงื่อนไขหลักเกณฑ์การฝึกงานของนักเรียน นักศึกษาฝึกงาน ให้ครอบคลุมเนื้อหาและรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็กตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 67)
Tags: การศึกษา, นักศึกษา, นักเรียน, นิสิต, ประชุมครม., ฝึกงาน, ลูกจ้าง, สวัสดิการ, เบี้ยเลี้ยง