นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASP) ประเมินภาพรวมการลงทุนในไตรมาส 2/67 มีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุด โดยแนวรับสำคัญที่ 1,350 จุดเป็นระดับที่ต่ำสุดแล้ว และเริ่มเห็นแรงหนุนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนไทย โดยมองกรอบแนวต้านของไตรมาส 2/67 ที่ 1,450 จุด
กลยุทธ์การลงทุน แนะนำ ดัชนี SET บริเวณ 1,350 จุด มี Valuation ที่น่าสนใจควร “ทยอยซื้อ” แนะนำหุ้นทยอยฟื้นตามเศรษฐกิจ CK SCCC MTC BJC KBANK, หุ้นกำไร ไตรมาส 2/67 เด่น PTTGC BGRIM
ASP มองว่าแรงหนุนเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย นโยบายการคลังที่เข้มข้นผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ภายในช่วงเวลาเพียง 5-6 เดือน ด้วยมูลค่า 3.48 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 9.3% เชื่อว่าน่าจะเบิกจ่ายได้อย่างช้าช่วงต้นเดือนพ.ค. และเมื่อมีการเบิกจ่ายงบประมาณน่าจะเห็นการกลับมาลงทุนของภาครัฐมากขึ้น
นอกจากนี้ ความคาดหวังการใช้นโยบายการเงินมีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยในปีนี้ 1 ครั้ง คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนรอบ มิ.ย. หลังมติในการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่เป็นเอกฉันท์ แม้ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจจะคงไว้ 5.5% ยาวนานขึ้น หลังเงินเฟ้อสูงกว่าคาด แต่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงน่าจะเริ่มเห็นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้จากสถิติในอดีตหลังกนง.ลดดอกเบี้ยตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นในช่วง 1-2 เดือนถัดมา
รวมถึงมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท, มาตรการฟรีวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว และการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในระยะถัดไป ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นภาคบริโภค อย่างไรก็ตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องติดตามต่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายหรือไม่
และยังมีแรงหนุนจากการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ในการพิจารณาของ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ประมาณ 8.48 แสนล้านบาท ซึ่งภายใน 6 เดือนน่าจะสามารถมีการอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนได้และน่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาภายใน 1-2 ปี นอกจากนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาเติมจากการเดินสายโรดโชว์ของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
ขณะที่บรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยยังได้แรงผลักดันจากกำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 1/67 ที่มีโอกาสเติบโต QoQ เด่น จากฐานกำไรงวดไตรมาส 4/66 ที่ต่ำกว่าปกติ พร้อมกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหนุน หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าแรงกว่า 7% ในช่วงไตรมาส 1/67 ซึ่งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่ามีสัดส่วน Market Cap กว่า 40% รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกปรับขึ้นแรงเกิน 15% QoQ หนุนให้เกิด Stock Gain ในหุ้น Commodity ที่มีสัดส่วนหลักในตลาด
สำหรับทิศทาง Fund Flow ปัจจุบันเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับที่ต่ำมากผิดปกติ ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มเห็นแรงขยับซื้อที่พลิกกลับมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/67 ตามกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตรวมทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งแรงขายของนักลงทุนต่างชาติมองว่าน่าจะไปหมดแล้ว ขณะที่ค่าเงินบาทมองว่าไม่น่าจะอ่อนค่าไปมากกว่า 37 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจัยดังกล่าวมองว่าเป็นไปได้ที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาในช่วงนี้
นางสาวลัพธ์พร ปานะกุล ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ตลาดรอง ASP คาดว่าตลาดตราสารหนี้ในช่วง 3 แล้วไตรมาสที่เหลือของปีนี้ จะมีการเคลื่อนไหวแบบ sideway down เนื่องจากการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 2.50% ในปัจจุบัน ลงไปอยู่ที่ 2.00-2.25% ซึ่งโดยปกติแล้วตลาดจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อรองรับการคาดการณ์ล่วงหน้า สังเกตได้จากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุไม่เกิน 3 ปี ที่ตอนนี้อยู่ในช่วง 2.265-2.387% โดยล่าสุดตลาดคาดว่าแบงก์ชาติจะเริ่มลดดอกเบี้ยช่วงกลางปีลงไป
ในช่วง 3 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ มีมูลค่าตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวครบกำหนด 696,411 ล้านบาท โดยจะครบกำหนดในไตรมาส 2/67 35.79% ไตรมา 3/67 33.53% และในไตรมาสสุดท้ายของปี 30.68%
ในส่วนมูลค่าหุ้นกู้ที่มีปัญหา ณ สิ้นไตรมาส 1/67 มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 122,271 ล้านบาท คิดเป็น 2.70% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ซึ่งถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อย โดยส่วนใหญ่หุ้นกู้ในตลาดยังถือว่าเป็นทางเลือกที่มั่นคงและปลอดภัย
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงที่เหลือของปีนี้ ภายใต้สภาวะตลาดดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวลง คือ ทยอยสะสมซื้อหุ้นกู้ในช่วงที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง และ ซื้อตามวัตถุประสงค์การลงทุน คือ ถ้าซื้อเพื่อลงทุนแบบถือจนครบกำหนด สามารถเลือกหุ้นกู้ที่มีอายุยาว หรือ หากลูกค้ารับความเสี่ยงได้มากขึ้น สามารถลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตไม่สูงมาก เพื่อได้ผลตอบแทนที่มากกว่า แต่ถ้าซื้อเพื่อทำกำไรแบบเร็วๆ หรือเพื่อ Trading ควรเลือกหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิต A- ขึ้นไป และ มีอายุไม่เกิน 3 ปี เนื่องจากเป็นกลุ่มที่นักลงทุนสถาบันนิยมลงทุน
นายบำรุงพงษ์ ชีวธนากรณ์กุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการลงทุน เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐส่งสัญญาณการปรับฐานนับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงกว่า 5% จากแรงกดดันเรื่องความกังวลด้านนโยบายการเงินของสหรัฐที่อาจคงดอกเบี้ยได้นานกว่าคาด โดยปัจจุบันตลาดมองธนาคารกลางสหรัฐจะลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ในเดือนกันยายน จากช่วงต้นเดือนที่มองลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง
ทั้งนี้เมื่อนโยบายการเงินมีความเข้มงวดมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้จึงส่งผลให้ดัชนี S&P500 ซึ่งซื้อขายที่ valuation ระดับสูงเริ่มมีการปรับฐาน โดยปัจจุบันตลาดซื้อขาย Forward PE 20.5x และอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 0.5SD หากในปีนี้ ธนาคารกลางไม่มีการลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้ดัชนีกลับมาซื้อขายที่ค่าเฉลี่ยที่ 19.3x หรือเทียบเท่าดัชนี 4,750 จุด
โดยในอดีต ผลกระทบจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังมีผลกระทบจำกัดต่อราคาน้ำมันและตลาดหุ้นแต่อาจสร้างจิตวิทยาเชิงลบต่อการลงทุนได้เป็นระยะ ซึ่งแม้ว่าความความขัดแย้งจะได้ยกระดับมาเป็นปัญหาระหว่างอิสราเอล-อิหร่านโดยตรง แต่ปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานยังไม่ได้รับผลกระทบกล่าวคือ ไม่มีปัญหาด้านการผลิตและการขนส่งน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจเป็นสัญญาณลบได้เมื่อมาพร้อมๆ กับการลดดอกเบี้ยในสหรัฐที่ยืดยาวออกไป
จึงแนะนำทยอยสะสมหุ้นสหรัฐในช่วงที่ตลาดย่อตัวโดย รอซื้อที่บริเวณดัชนี S&P500 ที่ 4,750 จุดซึ่งเป็นแนวรับทางพื้นฐานหากธนาคารกลางไม่มีการลดดอกเบี้ย โดยระยะสั้นตลาดอาจเผชิญความผันผวนในช่วงฤดูกาลประกาศงบ ไตรมาส 1/67 (เม.ย. – พ.ค.) และความกังวลด้านนโยบายการเงินของสหรัฐที่อาจคงดอกเบี้ยได้นานกว่าคาด แต่ในระยะยาวนั้น ทางนักวิเคราะห์หลายๆ สำนัก ยังคงมีมุมมองเชิงบวกโดยคาดการณ์กำไรของดัชนี S&P500 จะเติบโตเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ ไตรมาส 2/67 เป็นต้นไป โดยกลยุทธ์การลงทุนเน้น Balance พอร์ตการระหว่างกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จาก AI และหุ้นกลุ่ม Non-tech ที่ผลประกอบการโดดเด่น
ขณะที่ตลาดหุ้นจีนนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ยังคงปรับตัวในกรอบแคบ โดยได้แรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด เช่น GDP ไตรมาส1/67 ขยายตัวถึง 5.3% YoY สูงกว่าคาดที่ 4.8% YoY และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 5.2% YoY ขณะเดียวกันตัวเลข Fixed asset investment เดือน มี.ค. ขยายตัว 4.5% สูงกว่าคาดที่ 4.0% และเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนว่าภาคเอกชนมีการลงทุนต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามตัวเลขยอดค้าปลีกกลับขยายตัวเพียง 3.1% ต่ำกว่าคาดที่ 5.1% บ่งชี้ถึงภาคการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัวลง
ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์มองการเติบโตของ GDP ประเทศจีนในไตรมาส 1/67 นั้นไม่ได้แสดงถึงความแข็งแกร่งในทุกภาคส่วนทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังคงมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามปัจจุบันจีนกำลังเผชิญข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจากนโยบายการคลังที่ไม่สามารถกู้เงินได้เหมือนในอดีตเนื่องจากปัจจุบันอัตราส่วน Debt to GDP อยู่ระดับสูงสุดในประวัติการของประเทศจีน ขณะเดียวกันธนาคารกลางไม่สามารถใช้นโยบายการเงินได้เต็มประสิทธิภาพเช่นกัน เนื่องจากส่วนต่างของระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แตกต่างจากสหรัฐ ส่งผลให้จีนจะเผชิญอุปสรรคในการลดดอกเบี้ยเนื่องจากจะทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง จึงเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว
สำหรับนักลงทุนที่เน้นทำกำไรระยะสั้น สามารถเก็งกำไรได้บริเวณแนวรับดัชนี HSI index ที่ 16,200 – 16,000 จุด โดยเน้นหุ้นที่รายงานผลประกอบการออกมาดี และมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว และพิจารณาขายที่แนวต้านบริเวณ 17,000 จุดขณะที่นักลงทุนระยะกลาง ยังคงแนะนำเลือกลงทุนผ่าน Structured Note เนื่องจากยังขาดปัจจัยหลายๆ ด้านที่จะทำให้ตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
สำหรับตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มส่งสัญญาณการปรับฐาน โดยได้รับแรงกดดันหลักจากค่าเงินดองที่อ่อนค่าซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางเวียดนามกลับมาควบคุมสภาพคล่องและควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนโดยการออกตราสารหนี้ระยะสั้นอีกครั้ง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร (overnight rate) ปรับตัวสูงขึ้นและอาจสร้างความกังวลต่อนโยบายการเงินเวียดนามที่อาจกลับมาเข้มงวดมากขึ้นในระยะถัดไป
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยแนะนำขายทำกำไรในตลาดหุ้นเวียดนาม สำหรับนักเก็งกำไรเนื่องจากแรงกดดันด้านนโยบายการเงินดังกล่าว ประกอบกับการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยที่ใช้บัญชีมาร์จิ้นอาจก่อให้เกิดความผันผวนระยะสั้น และแนะนำติดตามกลับเข้าซื้ออีกครั้งเมื่อค่าเงินดองกลับมาแข็งค่า โดยฝ่ายวิจัยมองตลาดหุ้นเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตระยะยาวจากภาคการส่งออกฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ขณะที่ valuation ตลาดอยู่ที่ Forward PE 10.9x ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 14.2x
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 เม.ย. 67)
Tags: ASP, SET, บำรุงพงษ์ ชีวธนากรณ์กุล, ลัพธ์พร ปานะกุล, หุ้นไทย, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, เอเซีย พลัส