สหภาพ ธ.ก.ส. พบ “จุลพันธ์” เคลียร์ 5 ข้อห่วงใยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

นายศุภชัย วงศ์เวคิน ประธานสหภาพแรงงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบเพื่อหารือกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กรณีที่รัฐบาลต้องการใช้สภาพคล่อง ธ.ก.ส. 1.72 แสนล้านบาท สำหรับรองรับโครงการ Digital Wallet ว่า วันนี้ได้มาพูดคุยกับนายจุลพันธ์ เนื่องจากสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. มีความเป็นห่วงใน 5 ประเด็น คือ 1. ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 2. มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับหรือไม่ 3. สภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส. มีเพียงพอหรือไม่ 4. แผนการชำระคืนให้ ธ.ก.ส. เป็นอย่างไร และ 5. ผลตอบแทนที่ ธ.ก.ส.จะได้รับเป็นอย่างไร เพราะเงินในส่วนนี้ ธนาคารมีต้นทุนที่ต้องบริหารจัดการอยู่ด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของความกังวลว่าการดำเนินการดังกล่าว จะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นั้น ก่อนหน้านี้ สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง รมช.คลัง ก็ได้ให้ความมั่นใจว่าก่อนจะดำเนินการทุกอย่าง จะต้องทำให้ถูกกฎหมาย ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย รัฐบาลพร้อมที่จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

“ในเรื่องของข้อกฎหมาย หากไม่ผ่านทุกอย่าง ก็จบอยู่แล้ว ซึ่งวันนี้นายจุลพันธ์ยืนยันในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 28 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และเพื่อความสบายใจของทุกภาคส่วน นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าจะนำเรื่องนี้เข้ากฤษฎีกาเพื่อให้มีการตีความ ก็อยากให้รอความชัดเจนในส่วนนั้นก่อน” นายศุภชัย ประธานสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.กล่าว

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ตามข้อเท็จจริงไม่อยากให้พูดว่ารัฐบาลยืมเงิน ธ.ก.ส. เพราะแท้จริงแล้ว เป็นการใช้มาตรา 28 ซึ่งเป็นวิธีการงบประมาณ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้ ธ.ก.ส. เคยดำเนินการมาก่อน อาทิ โครงการไร่ละพัน เพราะตามหลัก รัฐบาลกู้เงิน ธ.ก.ส.ไม่ได้อยู่แล้ว จึงอยากให้ทำความเข้าใจในส่วนนี้ก่อน และที่ผ่านมา รัฐบาลก็ไม่ได้บอกว่าจะกู้เงิน ธ.ก.ส. แต่เป็นการใช้วิธีการงบประมาณตามมาตรา 28 ส่วนท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามวิธีการงบประมาณดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ก็คงต้องรอความชัดเจนจากกฤษฎีกาอีกที

ส่วนเรื่องมติ ครม. นั้น ก็ต้องมีรองรับ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องของกฎหมาย เพื่อเป็นการยืนยันและปกป้อง ธ.ก.ส. ว่าสามารถดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวของรัฐบาลได้ ไม่ผิด

สำหรับประเด็นกังวลเรื่องสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. นั้น ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ สภาพคล่องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีอยู่ราว 2 แสนล้านบาท ซึ่งแข็งแกร่งและมีเพียงพอ และอีกส่วน คือ สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคาร ที่จะต้องดูอีกที และเป็นเรื่องที่ ธ.ก.ส. เองจะต้องชี้แจง สหภาพแรงงาน ธ.ก.ส. คงไม่สามารถให้รายละเอียดได้

ขณะที่ความกังวลเรื่องแผนการชำระคืนนั้น อยากเห็นภาพที่ชัดเจนว่ารัฐบาลมีแผนการชำระคืน ธ.ก.ส.อย่างไร จะจ่ายคืนภายใน 3 ปี 5 ปี, 7 ปี หรือ 10 ปี อยากได้ความชัดเจนในส่วนนี้ โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส. มียอดหนี้คงค้างตามมาตรา 28 อยู่ที่ราว 6.29 แสนล้านบาท ซึ่งทุกปี ธ.ก.ส. จะได้รับชำระคืนที่ราว 10-12% ของยอดหนี้คงค้าง หรือประมาณ 6-9 หมื่นล้านบาท

เมื่อถามถึงโอกาสจะชำระคืนหนี้หมดหรือไม่นั้น นายศุภชัย กล่าวว่า ไม่แน่ใจ เพราะก็มีโครงการที่รัฐบาลมีการดำเนินการออกมาต่อเนื่อง แต่ ธ.ก.ส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็ต้องซัพพอร์ตโครงการของรัฐอยู่แล้ว ส่วนเรื่องผลตอบแทนนั้น ยังไม่ได้มีการพูดคุยอย่างชัดเจน เบื้องต้นอยากให้มีความชัดเจนเรื่องของกฎหมายก่อน

“ทางสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.เป็นห่วง ใน 3 เรื่องหลักๆ คือ ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่, มีมติ ครม. รองรับหรือไม่ และสภาพคล่องส่วนเกินของ ธ.ก.ส. มีเพียงพอหรือไม่ แต่ที่ห่วงมากที่สุด เป็นเรื่องความถูกต้องตามข้อกฎหมาย ซึ่ง รมช.คลัง ยืนยันชัดเจนที่จะนำเรื่องนี้ส่งให้กฤษฎีกาตีความ ก็สร้างความมั่นใจและสบายใจให้อย่างมาก เพราะถ้าเข้าไปแล้วได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง ก็ว่ากันไป ก็ต้องมาดูต่อว่ามีมติ ครม.ไหม มีสภาพคล่องไหม ทุกส่วนสำคัญหมด” นายศุภชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของความเชื่อมั่นจากลูกค้าของ ธ.ก.ส. จากที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าจะแห่ออกมาถอนเงินฝากนั้น นายศุภชัย กล่าวว่า เท่าที่เช็คสถานการณ์ล่าสุด ภาพรวมขณะนี้ยังไม่มีการแห่ถอนเงินฝากออกแต่อย่างใด โดยยอมรับว่ามีความกังวลมากที่สุดคือวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกหลังจากหยุดเทศกาลสงกรานต์ แต่ทุกอย่างก็เป็นปกติ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 67)

Tags: , ,
Back to Top