บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) และอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-Term Local-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ. ปตท. (PTT) ที่ BBB+ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะสั้น (International Short-Term Issuer Default Rating) ที่ F1 อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ F1+(tha) รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการออกหุ้นกู้ (Medium-Term Debenture Program) มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท และโครงการออกหุ้นกู้มูลค่าหุ้นกู้รวมไม่เกินหนึ่งแสนล้านบาท ที่ AAA(tha)
อันดับเครดิตของ PTT สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ระดับ bbb+ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย (BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์
อันดับเครดิตระยะยาวและระยะสั้นของ PTT จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากสถานะเครดิตโดยลำพังของ PTT ถูกปรับลงในอนาคต และฟิทช์พิจารณาว่าโอกาสในการได้รับการสนับสนุนภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตข้างต้นที่อยู่ในระดับสูงไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สถานะเครดิตโดยลำพังของ PTT สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตที่มั่นคง จากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของบริษัทแบบครบวงจร รวมถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ โดยฟิทช์มองว่าธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และเคมีภัณฑ์จะยังคงเป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของ PTT ไปจนถึงปี 2573 และ PTT มีแผนจะค่อยๆ เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ที่มีคาร์บอนต่ำ รวมถึงธุรกิจอื่น นอกเหนือจากธุรกิจพลังงาน มากขึ้นในอนาคต
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
– แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในระดับสูงมาก: ฟิทช์มองว่าบทบาทของ PTT ในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐฯ (Preservation of government policy) ทางด้านพลังงานอยู่ในระดับสูงมาก โดย PTT มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ การผิดนัดชำระหนี้ของ PTT จะส่งผลกระทบต่อการจัดหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสำหรับประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้า และทำให้ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศลดลง
นอกจากนี้ ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ ในกรณีที่ PTT ผิดนัดชำระหนี้ (Contagion risk) อยู่ในระดับสูงมากเช่นกัน เนื่องจากฟิทช์มองว่า PTT เปรียบเสมือนตัวแทนของภาครัฐฯ และรัฐวิสาหกิจ ที่มีการกู้เงินและออกหุ้นกู้ ดังนั้นการผิดนัดชำระหนี้ของ PTT จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการกู้ยืมเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ และต้นทุนทางการเงินของภาครัฐฯ และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย
– ความรับผิดชอบในการให้การสนับสนุนในระดับสูง: ฟิทช์ประเมินเรื่องการดูแลและการควบคุม (Decision-making and oversight) ของภาครัฐฯ ต่อ PTT อยู่ในระดับสูง เนื่องจากภาครัฐฯ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ร้อยละ 63 ใน PTT แม้ว่าภาครัฐฯ มีนโยบายให้ PTT ดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ แต่ก็มีการควบคุมนโยบายการลงทุนและกลยุทธ์หลักๆ ในภาพกว้าง
นอกจากนี้ ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนจากภาครัฐฯ (Precedents of support) ต่อ PTT อยู่ในระดับสูง ฟิทช์เชื่อว่าการที่ภาครัฐฯ ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่รัฐวิสาหกิจในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อประเทศเช่นเดียวกันกับธุรกิจพลังงาน น่าจะทำให้เชื่อได้ว่าภาครัฐฯ น่าจะให้การสนับสนุนแก่ PTT เช่นกันในกรณีที่บริษัทฯ มีความต้องการ แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทฯ เนื่องจาก PTT มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง
– ต้นทุนก๊าซฯ ที่สูงขึ้นของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ: ฟิทช์เชื่อว่ากำไรของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ของ PTT จะลดลง และมีความผันผวนเพิ่มขึ้น จากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อ PTT น่าจะอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ มีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย คิดเป็นประมาณร้อยละ 6 ของ EBITDA รวมของ PTT โดยเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
– ต้นทุนก๊าซธรรมชาติของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ จะถูกปรับให้เท่ากับราคาต้นทุนถัวเฉลี่ยก๊าซฯ จากทุกแหล่ง (Pooled gas price) ซึ่งรวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied natural gas) ซึ่งราคาก๊าซธรรมชาติเหลวโดยปกติจะมีราคาสูงกว่า และมีความผันผวนมากกว่าราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นกำไรของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ จะได้รับผลกระทบจากราคาต้นทุนก๊าซฯ ที่ผันผวนมากขึ้น นอกเหนือจากราคาผลิตภัณฑ์ที่มีความผันผวนอยู่แล้ว
– ผลประกอบการอ่อนตัวลง แต่ยังคงแข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ PTT จะอ่อนตัวลงในปี 2567 เนื่องจาก EBITDA จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ลดลง จากการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะปรับลดลง และกำไรของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่จะลดลง อย่างไรก็ตาม EBITDA ของ PTT จะยังคงแข็งแกร่งที่ประมาณ 3.65 แสนล้านบาทในปี 2567 (ปี 2566 อยู่ที่ 4.0 แสนล้านบาท) และอยู่สูงกว่าในปี 2559-2563 ฟิทช์คาดว่า EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี น่าจะปรับตัวลงเล็กน้อยในปี 2567 เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะยังคงอ่อนแอ จากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศจีน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้าลง และสภาวะกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ ในขณะที่ค่าการกลั่นน้ำมันก็มีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงต่อเนื่อง
– การลงทุนที่สูง: ฟิทช์คาดว่ากลุ่ม PTT จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ยังคงสูง จากการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดย บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) (อันดับเครดิต BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในธุรกิจนี้ มีการปรับแผนเงินลงทุน 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 นอกจากนี้ PTTEP ประกาศแผนการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 25.5 (โดยทางอ้อม) ในโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศสกอตแลนด์ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 689 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
– สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าสถานะทางเงินของ PTT จะยังคงแข็งแกร่งอยู่ และสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทฯ แม้ว่าฟิทช์คาดการว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจะเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะปรับลดลงกลับมาอยู่ในระดับปกติ ฟิทช์คาดว่า PTT จะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash flow from operation) ที่เพียงพอที่จะใช้ในการลงทุน ดังนั้นอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) ของ PTT น่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7 เท่าในปี 2567-2568 (ในปี 2566 อยู่ที่ 1.6 เท่า)
– ห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจร: PTT จะยังคงขยายธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยจะมุ่งเน้นแหล่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เพื่อทำให้การจัดหาก๊าซธรรมชาติสำหรับประเทศไทยมีความมั่นคง โดย PTTEP วางแผนที่จะเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 5 ต่อปีในช่วงห้าปีข้างหน้า และเพิ่มให้ถึงประมาณ 8.1 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันภายในปี 2571 (โดยในปี 2566 อยู่ที่ 6.4 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) บริษัทฯ จะยังคงเน้นการผลิตก๊าซธรรมชาติ (มีสัดส่วนร้อยละ 72 ของการผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดในปี 2566) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในระหว่างการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานจากแหล่งฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ
ธุรกิจท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติและการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าและโรงแยกก๊าซฯ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความสม่ำเสมอ อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่มีความมั่นคง และสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ แต่กำไรจากธุรกิจการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่า เนื่องจากการปรับราคาของต้นทุนก๊าซธรรมชาติตามสัญญาการซื้อขายระยะยาว จะช้ากว่าการปรับราคาของราคาผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ก๊าซธรรมชาติเหลวที่นำเข้าจะถูกจัดจำหน่ายแก่ผู้ใช้ จะต้องผ่านสถานีรับก๊าซธรรมชาติเหลว และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบัน PTT เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว โดย PTT จะคิดค่าบริการตามที่หน่วยงานกำกับธุรกิจพลังงานเป็นผู้กำหนด
– กลยุทธ์ในการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน: PTT มีแผนที่จะกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจพลังงานในอนาคต เช่น พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถพลังงานไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานจากไฮโดรเจน รวมถึงไปยังธุรกิจใหม่ๆ เช่น วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและการแพทย์ (Life Science) เทคโนโลยีและดิจิตอล และการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 15,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 กลุ่ม PTT วางแผนที่จะลงทุนในธุรกิจพลังงานในอนาคต และธุรกิจใหม่ๆ คิดเป็นประมาณร้อยละ 32 ของแผนเงินลงทุนในปี 2564-2573 และวางเป้าหมายว่ากำไรสุทธิจากธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้จะมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 30 ของกำไรสุทธิทั้งหมดในปี 2573
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ PTT จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากสถานะเครดิตโดยลำพังของ PTT ถูกปรับลงในอนาคต ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ ของฟิทช์ และฟิทช์พิจารณาว่าโอกาสในการได้รับการสนับสนุนภาย ใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตข้างต้นที่อยู่ในระดับสูง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อสังคมและการเมืองในด้านการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐฯในกรณีที่บริษัทผิดนัดชำระหนี้ อยู่ในระดับสูงมาก เช่นเดียวกันกับของ PT Pertamina (Persero) (อันดับเครดิต BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ของประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ นอกจากนี้ฟิทช์มองว่าผลกระทบต่อการกู้ยืมของภาครัฐฯ ในกรณีที่ PTT ผิดนัดชำระหนี้ อยู่ในระดับสูงมาก เช่นเดียวกันกับของ Pertamina เนื่องจากฟิทช์มองว่า ปตท. เปรียบเสมือนตัวแทนของภาครัฐฯ และรัฐวิสาหกิจ ที่มีการกู้เงินและออกหุ้นกู้ เช่นกัน
ฟิทช์ประเมินความรับผิดชอบในการให้การสนับสนุนของภาครัฐฯ แก่ PTT ในระดับสูง ซึ่งต่ำกว่าของ Pertamina ที่อยู่ที่ระดับสูงมาก เนื่องจากฟิทช์มองว่าภาครัฐฯ มีการดูแลและควบคุม Pertamina ที่มากกว่าของ PTT โดย Pertamina ได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐฯ ผ่านการอนุมัติจากรัฐสภา ในการช่วยสนับสนุนนโยบายของภาครัฐฯ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสังคม ในด้านการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐฯ ต่อ PTT แม้ว่าที่ผ่านมาไม่ได้มีการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทฯ เนื่องจาก PTT มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง แต่การที่ภาครัฐ ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่รัฐวิสาหกิจอื่นที่มีความสำคัญใกล้เคียงกัน น่าจะทำให้เชื่อได้ว่าภาครัฐฯ น่าจะมีการสนับสนุนให้แก่ PTT เช่นกันในกรณีที่บริษัทมีความต้องการ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
– ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ราคา 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567, 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2568, 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569 และ 2570 และ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2571
– ปริมาณการขายของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปีโดยเฉลี่ย ในปี 2567-2571 (ปี 2566 ลดลงร้อยละ 1.3)
– EBITDA จากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจปิโตรเคมี อ่อนตัวลงเล็กน้อยในปี 2567
– EBITDA จากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ลดลงปี 2567
– ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2567-2569 (2566 มีการลงทุนทั้งสิ้น 1.9 แสนล้านบาท)
– การจ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50-55 ของกำไร
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก
– การปรับเพิ่มอันดับเครดิตประเทศไทย หากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับประเทศไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยลบ
– การปรับลดอันดับเครดิตประเทศไทย
ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตโดยลำพังของ PTT:
– การลงทุนที่สูงโดยใช้เงินกู้ยืม หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วน EBITDA Net Leverage สูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
– การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อ ปตท.
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคตของประเทศไทย ที่ได้ประกาศในรายงานลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566
ปัจจัยบวก:
– ด้านเศรษฐกิจมหภาค: การปรับตัวดีขึ้นของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยไม่ทำให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
– ด้านหนี้สาธารณะ: การลดหนี้สินของรัฐบาล (General Debt to GDP) เช่นอาจเกิดจากงบประมาณขาดดุลที่ลดลง และ/หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางที่ดีขึ้น
ปัจจัยลบ:
– ด้านหนี้สาธารณะ: การที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาระดับหนี้สินของรัฐบาล (General Debt to GDP) ในคงที่ เช่นอาจเกิดจากงบประมาณที่ขาดดุลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแรงกดดันให้รัฐบาลต้องมีการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
– ด้านโครงสร้าง: ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระดับที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือกระทบต่อการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว
*สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของ PTT ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 4.6 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 เมื่อเทียบกับหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 2.0 แสนล้านบาท นอกจากนี้สภาพคล่องของบริษัทยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อประเภท Committed ที่สามารถเบิกใช้ได้จำนวน 3.1 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่าย รวมทั้งบริษัทยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่บริหารจัดการได้ โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 10 ปี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 เม.ย. 67)
Tags: PTT, ปตท., ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย), สกุลเงินต่างประเทศ