นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท ว่า ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดจำนวน 14 สัญญา ยังเหลืออีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนามก่อสร้าง คือ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ซึ่งรอการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกหรือ HIA ของสถานีอยุธยา
โดยทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง ยูเนสโก ว่าจะจัดส่งรายงาน HIA ให้ภายในเดือนเม.ย.2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการ และคาดว่าหลังสงกรานต์นี้ รฟท.จะส่งเรื่องไปที่ สผ. เพื่อดำเนินการส่งรายงานผลการศึกษา HIA ไปที่ยูเนสโกอย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้ ระหว่างดำเนินการศึกษารายงาน HIA ได้เชิญผู้แทนยูเนสโกมาเป็นที่ปรึกษา ดังนั้นเมื่อ สผ.จัดส่งรายงาน HIA ไปที่ยูเนสโกแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้จะสามารถลงนามจ้างสัญญา 4-5 ได้ ซึ่งช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. วงเงิน 9,913 ล้านบาท ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ไว้แล้ว
“ประเด็นเรื่องมรดกโลก ยืนยันว่าแนวเส้นทางและสถานีอยุธยา ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลก แต่อยู่ใน Bubble Zone อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นการทำHIA ฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งต่อไปนี้ต้องประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจว่า หากโครงการที่ต้องก่อสร้างผ่านสถานที่โบราณสถาน จะต้องทำ EHIA ก่อนเพื่อไม่ให้เป็นประเด็นปัญหา”นายสุรพงษ์กล่าว
ส่วน อีกสัญญาที่ยังไม่ได้เริ่มต้นคือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.ซึ่งเป็นช่วงที่รถไฟไทย-จีน ใช้โครงสร้างร่วมกับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เรื่องนี้ ต้องรอกรณีที่ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) ต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก่อน โดยมีการขยายไปถึงวันที่ 22 พ.ค. 2567 ตามที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้ตอบฝ่ายค้านในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ โดยหากครบกำหนดเดือนพ.ค.นี้แล้วไม่ได้บัตรสงเสริมการลงทุนชัดเจนแล้ว ฝ่ายรัฐต้องเจรจาหาทางออก กรณีเอกชนไม่ไปต่อ หรือไม่ประสงค์จะทำโครงการต่อ รฟท.จะต้องนำโครงสร้างร่วมนี้ มาดำเนินการเอง
โดยรถไฟไทย-จีน สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ตามกรอบเดิมมีวงเงิน 3,337 ล้านบาท กรณีทำโครงสร้างร่วมวงเงินรวมจะอยู่ที่ประมาณ 9,207 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้นในการก่อสร้างโครงสร้างร่วม มั่นใจว่ามีวิธีพิจารณาจัดหางบมาดำเนินการได้ไม่มีปัญหา
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม พร้อมเดินหน้าผลักดันโครงการรถไฟ ไทย-จีน โดยเฉพาะงานโยธาที่เหลือ 2 สัญญาหากเดือนพ.ค.นี้รถไฟเชื่อม 3 สนามบินมีความชัดเจนว่ายังไม่สามารถทำโครงสร้างร่วมได้ รฟท.พร้อมลงมือทำส่วนนี้เอง ยืนยันตนจะทำให้โครงการรถไฟไทย-จีน เดินหน้าได้ก่อน โดยมีเป้าหมายเปิดบริการในปี 2571 แต่ตอนนี้ไม่อยากพูดอะไรไปก่อน เพราะเรื่องยังไม่ชัดเจน จะเกิดผลกระทบกับหลายฝ่าย และต้องเข้าใจว่าโครงการรถไฟ 3 สนามบินอยู่ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนรฟท. เป็นคู่สัญญาเท่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 67)
Tags: กระทรวงคมนาคม, รถไฟความเร็วสูง, สุรพงษ์ ปิยะโชติ