นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ออกประกาศกระทรวงกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันรายงานข้อมูลรายละเอียดราคา และต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงแจ้งราคาต้นทุนเฉลี่ย และหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงในทุกไตรมาส และกรณีที่ผู้ค้าน้ำมันปรับปรุงการบันทึกบัญชี หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูล จะต้องแจ้งให้อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบเช่นเดียวกัน
“มาตรการนี้ จะทำให้กระทรวงพลังงาน ทราบถึงต้นทุนเฉลี่ยของน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นจริง ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่จำเป็นในการกำหนดนโยบายด้านการพลังงานที่เหมาะสม และเป็นธรรมให้กับประชาชนต่อไป” รองโฆษกรัฐบาล ระบุ
นางรัดเกล้า กล่าวด้วยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง, เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้สรุปผลการพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG และ 2. ภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG โดยมีรายละเอียดดังนี้
ส่วนแรก : ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ และแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาก๊าซ LPG ของกระทรวงพลังงาน
1. ควรปรับปรุงการบริหารต้นทุนตามวิธีการผลิตและต้นทุนที่ชัดเจน โดยให้แยกราคาหน้าโรงกลั่น ราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG
โดยกระทรวงพลังงาน ได้มีการศึกษาและทบทวนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเผยแพร่ข้อมูลโครงสร้างราคาก๊าซ LPG และหลักเกณฑ์การคำนวณราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซ LPG รวมทั้งสำรวจและทบทวนค่าการตลาดที่เหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับการคำนวณราคาจำหน่ายก๊าซ LPG เป็นไปตามกลไกการกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
2. ควรใช้หลักเกณฑ์ในการเปิดสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมัน เพื่อเพิ่มช่องทางการบริการและการแข่งขัน อันจะเป็นการลดต้นทุนการจัดการและราคาให้กับผู้บริโภค
โดยกระทรวงพลังงาน ได้มีการดำเนินงานด้านหลักเกณฑ์ให้การก่อสร้างสถานีบริการและโรงบรรจุก๊าซ LPG นั้น ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง แต่การลงทุนขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ประกอบการ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามการลงทุน
3. ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้โรงบรรจุก๊าซสามารถบรรจุก๊าซในถังบรรจุก๊าซ LPG ที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้ค้าน้ำมันอื่นได้ เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
โดยกระทรวงพลังงาน ได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ โดยผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงของ พน. และต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยของถังบรรจุก๊าซ LPG
4. รัฐควรพิจารณานโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ 1% (32,725 ตัน/เดือน) ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตเองได้ ดังนั้น การกำหนดปริมาณเก็บสำรองมากเกินไป จะส่งผลให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้มีต้นทุนสูงขึ้น รวมทั้งอาจทำให้ผู้ประกอบการนำไปหากำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
โดยกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของอัตราการเก็บสำรองก๊าซ LPG
ส่วนที่สอง : ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการฯ ต่อภาพรวมในเชิงบริหารของน้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซ LPG
1. เสนอให้จัดตั้งหน่วยงานด้านสารสนเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่พลังงานสารสนเทศ
2. มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง ที่ควรมุ่งเน้นช่วยเหลือในกลุ่มที่มีความเปราะบาง แทนการช่วยเหลือในภาพรวม
3. การเข้าถึงแหล่งพลังงานของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม ดังนั้น การกำหนดราคาต้นทุนของพลังงานที่ผลิตในประเทศ ควรเป็นต้นทุนที่แท้จริง หรือหากใช้ราคาตลาดโลกในการอ้างอิง ควรกำหนดให้ราคาที่ผลิตในประเทศมีราคาที่ต่ำกว่า
4. ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ไม่ซับซ้อน ชัดเจน และเป็นธรรม ลดการแทรกแซงราคา ซึ่งการแทรกแซงราคา ส่งผลให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาที่แท้จริง
5. พิจารณาแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้การบริหารมีประสิทธิภาพและการใช้เงินกองทุนฯ ต้องเป็นไปเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาอย่างแท้จริง ไม่ควรนำไปใช้ในการแทรกแซง หรืออุดหนุนราคาจนเกิดความผันผวน
6. ทบทวนกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดบนพื้นฐานสถานการณ์ปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับทรัพยากรของประเทศ
7. การจัดหาพลังงานในอนาคต ที่ควรเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติม
8. ควรส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษาวิจัยพลังงาน และเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พลังงานไฮโดรเจนจากน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้พลังงาน และค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคต
นางรัดเกล้า กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวเกือบทุกข้อ อาทิ การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางสารสนเทศด้านพลังงาน มีการช่วยเหลือราคาเชื้อเพลิงแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ในส่วนของก๊าซปิโตรเลียมเหลว และกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้างในส่วนของน้ำมันเบนซิน
ส่วนการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ชดเชยสูงสุดได้ไม่เกินปี 2569 รวมทั้งการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่และการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
ตลอดจนมีมาตรการสนับสนุนการศึกษาวิจัยพลังงานและเชื้อเพลิงทางเลือกในอนาคตรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ในภาคพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใต้นโยบายสังคมคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 67)
Tags: กระทรวงพลังงาน, น้ำมันเชื้อเพลิง, ผู้ค้าน้ำมัน, รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี