ศปถ. เผยยอดอุบัติเหตุสงกรานต์ 5 วันแรก บาดเจ็บ 1,593 เสียชีวิต 206

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย.67 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” พบว่า มีการเกิดอุบัติเหตุ 301 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 314 คน ผู้เสียชีวิต 39 ราย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว รองลงมา คือ ดื่มแล้วขับ ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-17.00 น. โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (4 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 5 วันของการรณรงค์ (11-15 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,564 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,593 คน ผู้เสียชีวิต รวม 206 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 17 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (61 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ น่าน (60 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเชียงราย (13 ราย)

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ถนนหลายสายมีปริมาณรถเป็นจำนวนมาก ประกอบกับความอ่อนล้าจากการขับรถทางไกล อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

ศปถ. จึงได้ประสานจังหวัดปรับแผนการดำเนินงาน สร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยบูรณาการตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครและภูมิภาคต่าง ๆ รวมถึงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ให้เร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ ปิดจุดกลับรถ ปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับช่วงเวลาในการเดินทางของประชาชน

อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ประจำจุด ตรวจเข้มงวดการเรียกตรวจยานพาหนะในเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางตรงระยะทางไกล ซึ่งผู้ขับขี่มักจะใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ อีกทั้งประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการง่วงแล้วขับ

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย รวมถึงยานพาหนะให้พร้อมเข้าถึงจุดเกิดเหตุทันที หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1669 ตลอดจนขอความร่วมมือผู้ใช้รถใช้ถนน อำนวยความสะดวกแก่รถพยาบาลและรถฉุกเฉิน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงจุดเกิดเหตุและนำส่งผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 เม.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top