คลัง มั่นใจแม้ ธปท.ไม่ผ่อนเกณฑ์ LTV ไม่กระทบมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง เชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลผลักดันออกมาล่าสุดนั้น จะส่งดีต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ส่วนกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะไม่ผ่อนคลายเกณฑ์มาตรการ LTV นั้น ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลออกมาอย่างแน่นอน และการที่ ธปท. จะไม่คลายเกณฑ์มาตรการดังกล่าวนั้น เข้าใจว่าสิ่งที่ ธปท. พิจารณาก็มีเหตุผลในฐานะผู้กำกับดูแล แต่ในมุมของสถาบันการเงิน ก็ต้องการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยให้มากที่สุด

“วันที่พิจารณาทำมาตรการนั้น ก็อยู่บนพื้นฐานของตัวเลขปัจจุบัน ดังนั้นการที่ ธปท. ไม่คลายเกณฑ์ LTV เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบกับมาตรการของรัฐบาล โดยในวันที่คิดจะทำมาตรการนั้นเป็นผลจาก ไตรมาส 4/2566 พบว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ติดลบ 8.8% แต่หลังจากมีมาตรการ เชื่อว่าจะส่งผลดีอย่างแน่นอน ส่วนการติดลบ 8.8% นั้น มองว่าไม่ได้เป็นผลมาจากความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยที่ไม่มีความชัดเจนหลาย ๆ อย่าง แต่หลังจากมีมาตรการกระตุ้นออกมาก็เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เป็นแรงจูงใจให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น” รมช.คลังกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อบริหารจัดการหนี้เสียนั้น นายกฤษฎา กล่าวว่า ในเบื้องต้นทราบว่า ขณะนี้ ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 3-4 ราย ซึ่งก็สามารถที่จะมีพันธมิตรได้มากกว่า 1 ราย โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้

ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นั้น คงไม่ได้มีการร่วมจัดตั้ง AMC เนื่องจากปัจจุบัน หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ได้มากนัก

*ยอดสินเชื่อใหม่ Q1/67 3.2 หมื่นลบ. NPL สูงกว่าคาด

ด้านนายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวถึงความคืบหน้าในการปล่อยสินเชื่อของ ธอส. ในช่วงไตรมาส 1/2567 ว่า ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว 3.2 หมื่นล้านบาท และคาดว่าทั้งปี 67 ยอดสินเชื่อจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2.42 แสนล้านบาท

ส่วนแนวโน้ม NPL ยอมรับว่า ปัจจุบันมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.8% จากเดิมอยู่ที่ 3.8% โดย NPL ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งธนาคารจะเร่งบริหารจัดการ เพื่อคุมหนี้เสียไว้ไม่ให้เกิน 4.8%

“ยอมรับว่า NPL สูงกว่าที่คาด จากคุณภาพสินเชื่อที่อ่อนตัวลง โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่สิ้นสุดลง แต่ ธอส. ได้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนปี 2567 รองรับการไหลของหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้น ซึ่งตัวเลขจะเห็นชัดเจนในเดือน เม.ย. นี้ และจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น” นายกมลภพ กล่าว

ส่วนกรณีเรื่อง LTV นั้น ยืนยันว่า ทั้งกระทรวงการคลัง และ ธปท.ต่างมีเหตุและผล ซึ่ง ธอส. มีการปรับเกณฑ์สินเชื่อที่มีเกณฑ์ LTV 85-100% จึงทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

ขณะที่ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ธอส.ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้มีการตรึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 67)

Tags: , , ,
Back to Top