นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีข้อสั่งการ เรื่องการย้ายท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ว่า เบื้องต้นกระทรวงคมนาคม ได้รับข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับหนังสือสั่งการอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้หากได้รับหนังสือสั่งการเป็นทางการแล้ว กระทรวงคมนาคมจะเร่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และทำแผนปฎิบัติการ กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินงาน ซึ่งเป้าหมายรัฐบาลต้องการลดความแออัด ลดปริมาณรถบรรทุก ที่มีปัญหาด้านมลพิษทางอากาศและใช้ประโยชน์ที่ดิน ประมาณ 2,353 ไร่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำ ซึ่งมีเรือท่องเที่ยวเรือสำราญเข้ามา เพื่อพัฒนาให้เกิดความคุ้มค่า ทางเศรษฐกิจมากที่สุด
เรื่องนี้มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาและ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคมเอง ได้แก่ การท่าเรือแห่งประเทศ (กทท.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมเจ้าท่า (จท.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ส่วนกระทรวงมหาดไทย มี กรมที่ดิน กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระทรวงการคลัง มีกรมธนารักษ์ กรมศุลการกร
รมช.คมนาคมกล่าวว่า ในส่วนของการท่าเรือฯ นั้นมีการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งตามแผนจะมีการพัฒนาภายใน 5 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่เริ่ม ดังนั้นจะใช้แผนแม่บทดังกล่าว เป็นต้นแบบในการพิจารณาตามข้อสั่งการของนายกฯ หลักการ จะคงบริการท่าเรือไว้บางส่วน เช่น ท่าเรือท่องเที่ยว ที่เข้ามาเทียบท่าเป็นลักษณะ Home Port ที่นักท่องเที่ยวเข้ามาแวะเที่ยวกรุงเทพฯ 15-20 วัน โดยนอนบนเรือ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องพัฒนาให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ส่วนการขนส่งสินค้านั้น จะมีทั้งท่าเรือชายฝั่งรองรับสินค้าภายในประเทศด้วย ที่การขนส่งทางน้ำ มีต้นทุนต่ำและช่วยค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งคณะทำงานฯจะพิจารณารายละเอียด ในทุกประเด็นเพราะจะมีท่าเทียบเรือสัมปทาน มีเรื่องสัญญาเช่ากับบริษัทเอกชน หรือหน่วยงานอื่นๆ
สำหรับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ตามแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น มีการจัดพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยในแนวสูง รวมถึงมีข้อเสนอและการเยียวยากรณีประชาชนต้องการย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นเฟสๆ
“คณะทำงานฯจะศึกษาความเป็นไปได้ รายละเอียดและทำแผนปฏิบัติการในการย้ายท่าเรือ กรอบระยะเวลา การเยียวยาหรือสิทธิประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เช่าพื้นที่ ต่างๆ หากมีการย้ายออกจะไปอยู่ตรงไหน และได้รับสัญญา หรือสิทธิประโยชน์ตามเดิมหรืออย่างไร หรือในอนาคตหากท่าเรือแหลมฉบังพัฒนาเต็มศักยภาพการขนส่งและบริหารจัดการและค่าเช่าพื้นที่อาจจะต่ำกว่า ท่าเรือกรุงเทพ ผู้ประกอบการอาจจะอยากย้ายไปก็ได้ เป็นต้น”
นายมนพร กล่าวถึงกรณีที่ กทท.เตรียมเปิดประกวดราคาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จำนวน 2 แปลง ได้แก่ 1. ที่ดินพื้นที่ 17 ไร่ ติดอาคารสำนักงานของ กทท.(นอกรั้วศุลกากร) 2. ที่ดินพื้นที่ 15 ไร่ ข้างอาคารสำนักงานของ กทท.(นอกรั้วศุลกากร) บริเวณโกดังสเตเดียม เพื่อให้เอกชนเข้ามาพัฒนา รวมถึงโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) คงต้องให้หยุดก่อนเพื่อรอดูคณะทำงานฯศึกษาทบทวนภาพรวมให้ครบถ้วนก่อน เพราะทุกพื้นที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาในภาพรวม ซึ่งภาวะปัจจุบันอาจเปลี่ยนแปลงและให้รอแผนใหญ่ชัดเจนก่อน
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า ตามผลการศึกษา พัฒนาพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ มีการวางผังเพื่อบริหารจัดการพื้นที่และทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพื้นที่ในเขตรั้วศุลกากรใช้ในกิจการท่าเรือกว่า 900 ไร่ ได้วางแผนใช้งานกิจการท่าเรือส่วนหนึ่งและอีกส่วนจะพิจารณาเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เช่น ท่าเทียบเรือสำราญ (เรือครูซ) หรือเป็นอาคารพาณิชย์ หรือมิกซ์ยูส เชื่อมโยงโลจิสติกส์ ศูนย์ขนส่งและท่องเที่ยว หรือเป็นฟรีโซน ดิวตี้ฟรี เป็นต้น ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง
“กทท.จะนำแผนแม่บทฯ เร่งหารือกับคณะทำงานฯเพื่อพิจารณาว่า จะต้องมีการปรับปรุงส่วนไหน แล้วมีส่วนไหนที่ยังคงทำตามเดิม หลักการจะไม่กระทบต่อชุมชนและสัญญาผู้เช่าและคู่ค้าต่างๆ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 67)
Tags: ท่าเรือกรุงเทพ, ท่าเรือคลองเตย, มนพร เจริญศรี, เศรษฐา ทวีสิน