In Focus: ประมวลเหตุการณ์ครบ 6 เดือนสงครามอิสราเอล-ฮามาส วิกฤตความขัดแย้งสะเทือนโลก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 เม.ย. 2567 เป็นวันครบรอบ 6 เดือนของสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 หลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ส่งผลให้ประชาชน 1,200 รายถูกสังหารและอีก 253 รายถูกจับไปเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา ขณะที่อิสราเอลได้เปิดฉากปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ฉนวนกาซาทันที ส่งผลให้ปัจจุบันชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วกว่า 33,000 ราย ขณะที่สงครามก็ยังดูไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ

In focus สัปดาห์นี้จะพาผู้อ่านไปประมวลเหตุการณ์ล่าสุดของการครบรอบ 6 เดือนสงครามอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงความเสียหายทั้งต่อชีวิต เศรษฐกิจ และทรัพย์สินจากศึกสงครามครั้งนี้

*เหยื่อสงครามทะลุหมื่น

ปฏิบัติการโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตแซงหน้าทุกความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 21 โดยกระทรวงสาธารณสุขฉนวนกาซาเปิดเผยเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ว่า มีชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 33,360 ราย ถูกสังหารโดยกองกำลังของอิสราเอล รวมถึงเด็กกว่า 14,500 ราย และผู้หญิงถึง 9,560 ราย นับตั้งแต่ที่สงครามปะทุขึ้น

ส่วนผู้บาดเจ็บและผู้พิการแตะ 75,993 ราย ขณะที่มีผู้สูญหายมากกว่า 7,000 ราย ซึ่งทางการคาดการณ์ว่าบางส่วนอาจถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพัง

กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) ระบุว่า อิสราเอลได้สังหารนักรบฮามาสไปแล้วประมาณ 13,000 นายในฉนวนกาซานับตั้งแต่เริ่มสงคราม ขณะที่ทหารอิสราเอลมากกว่า 600 นายเสียชีวิตในการสู้รบครั้งนี้

ข้อมูลจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และกิจการแห่งสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ (UNRWA) ระบุว่า มีชาวปาเลสไตน์กว่า 1.7 ล้านคนต้องหนีออกจากบ้านเรือนและกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐาน ขณะที่ผู้คนกว่าครึ่งกำลังเผชิญภาวะอดอยาก รวมถึงความไม่มั่นคงทางอาหาร

*กาซาเสียหายหนัก

ธนาคารโลกและองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานเมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ระบุว่า มูลค่าความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในฉนวนกาซาคาดว่าอยู่ประมาณ 1.85 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนแรกของสงคราม หรือเทียบเท่า 97% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเขตเวสต์แบงก์และกาซารวมกันในปี 2565

ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานนั้นกระทบต่อทุกภาคส่วน โดย 72% เป็นความเสียหายด้านที่อยู่อาศัยซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งบ้านเรือนประมาณ 62% ในฉนวนกาซาได้รับความเสียหายหรือถูกทำลาย เทียบเท่ากับที่อยู่อาศัย 290,820 ยูนิต

ขณะที่อีก 19% เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการสาธารณะ เช่น ระบบประปา สาธารณสุข และการศึกษา และ 9% เป็นอาคารพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดย 80% ของความเสียหายทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในฉนวนกาซา กาซาตอนเหนือ และเมืองข่านยูนิส

*บานปลายสู่สงครามภูมิภาค

อิสราเอลยกระดับปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินเข้าไปพื้นที่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซาในช่วงปลายเดือนต.ค. และทันทีที่ข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสฉบับแรกสิ้นสุดลงในวันที่ 1 ธ.ค. อิสราเอลประกาศว่าจะขยายการโจมตีภาคพื้นดินไปยังฉนวนกาซาตอนใต้ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็น “เขตปลอดภัย” รวมถึงพื้นที่ตอนกลางของกาซา

การตอบโต้ของอิสราเอลที่ใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างไร้มนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์และโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพในฉนวนกาซา ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากประชาคมโลก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ

เมื่อวันที่ 13 ต.ค. กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในเลบานอนและอดีตศัตรูคู่แค้นของอิสราเอลได้ออกมาประกาศว่าจะเข้าร่วมกับนักรบฮามาสในการทำสงครามกับอิสราเอล โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้โจมตีพื้นที่ทางตอนเหนือของอิสราเอลเมื่อวันที่ 8 ต.ค.

ขณะเดียวกัน กลุ่มกบฏฮูตีซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธในเยเมนและได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน ก็ได้เริ่มก่อเหตุยิงขีปนาวุธและโดรนติดอาวุธโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดงเมื่อวันที่ 19 ต.ค. เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ ส่งผลให้การเดินเรือในทะเลแดงซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งที่มีความคับคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ต้องหยุดชะงักลง

*ยังเหลือตัวประกันอีกนับร้อย

ชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติถูกจับเป็นตัวประกัน 253 ราย จากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งอิสราเอลสามารถบุกเข้าไปช่วยตัวประกันออกมาได้ 3 รายในระหว่างปฏิบัติการตอบโต้กลับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา

ในข้อตกลงหยุดยิง กลุ่มฮามาสยอมปล่อยตัวประกัน 109 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก เพื่อแลกเปลี่ยนกับนักโทษหญิงและเด็กหนุ่มชาวปาเลสไตน์ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีในเรือนจำของอิสราเอล

ปัจจุบัน มีตัวประกันประมาณ 129 รายยังคงถูกจับตัวอยู่ในกาซา โดยทางการอิสราเอลคาดว่าในจำนวนดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว 34 ราย และเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) สามารถกู้ศพได้แล้ว 12 ราย

*ข้อตกลงหยุดยิงไม่คืบหน้า

จนถึงขณะนี้ อิสราเอลและกลุ่มฮามาสสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงเพียงฉบับเดียวเท่านั้น โดยมีกาตาร์เป็นตัวกลางในการเจรจา ซึ่งส่งผลให้มีการพักรบหยุดยิงเป็นเวลา 7 วันนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. อีกทั้งกลุ่มฮามาสยอมปล่อยตัวประกันประมาณ 100 ราย รวมทั้งผู้หญิง เด็ก และชาวต่างชาติ เพื่อแลกกับการปลดปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อิสราเอลและฮามาสเปิดฉากเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงอยู่หลายครั้ง แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เม.ย. อิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้ส่งตัวแทนเจรจาไปยังกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เพื่อร่วมการเจรจาข้อตกลงหยุดยิงรอบใหม่ โดยมีผู้แทนจากสหรัฐ กาตาร์ และอียิปต์เข้าร่วมด้วยในฐานะตัวกลางเจรจา รวมถึงนายวิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA)

ข้อเสนอล่าสุดของกลุ่มฮามาสได้แก่การหยุดยิง 6 เดือน แลกกับการปล่อยตัวประกันบางส่วน รวมทั้งถอนกองกำลังทหารทั้งหมดออกจากฉนวนกาซา และยินยอมให้ชาวปาเลสไตน์บางส่วนเดินทางกลับไปยังบ้านของพวกเขาทางเหนือของกาซา

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว โดยนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลประกาศลั่นว่าจะกวาดล้างกองกำลังของกาซา รวมถึงกองกำลังที่ยังคงอยู่ในเมืองราฟาห์ ซึ่งเป็นที่ลี้ภัยสุดท้ายของชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่น รวมถึงปลดปล่อยตัวประกันทุกคน

*สะเทือนเศรษฐกิจอิสราเอล

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า อิสราเอลสูญเสียเงินจากสงครามโดยตรงมูลค่า 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซา รวมถึงการจ่ายเงินชดเชยให้กับพลเมืองและทหารที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในครั้งนี้

กระทรวงการคลังอิสราเอลเปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายของรัฐบาลอิสราเอลในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสพุ่งขึ้นแตะระดับ 5.25 หมื่นล้านเชเกล หรือประมาณ 1.42 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมี.ค. ส่งผลให้รัฐบาลอิสราเอลเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณในช่วง 12 เดือนสูงแตะ 1.173 แสนล้านเชเกล หรือคิดเป็นสัดส่วน 6.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

นอกจากนี้ สำนักงานสถิติกลางของอิสราเอลระบุว่า เศรษฐกิจอิสราเอลหดตัว 19.4% ในไตรมาส 4/2566 เมื่อเทียบรายไตรมาส เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทำสงครามกับกลุ่มฮามาส และถือเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด

ด้านเอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอิสราเอลอาจจะขยายตัวเพียง 0.5% ในปี 2567 และยอดขาดดุลงบประมาณอาจจะอยู่ที่ 10.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงปี 2566-2567

*ชาวอิสราเอลนับแสนเดินขบวนขับไล่ “เนทันยาฮู”

ทันทีที่ความขัดแย้งกับกลุ่มฮามาสปะทุขึ้น นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลประกาศเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารถล่มกาซา พร้อมให้คำมั่นว่าจะนำตัวประกันกลับบ้านและทำลายกลุ่มฮามาสที่ปกครองฉนวนกาซาให้สิ้นซาก แต่หลังจากผ่านไป 6 เดือน นายเนทันยาฮูกลับไม่สามารถบรรลุได้สักเป้าหมาย ซึ่งทำให้ชาวอิสราเอลไม่พอใจอย่างมาก

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ผู้ประท้วงชาวอิสราเอลนับแสนคนจึงตัดสินใจออกมาเดินขบวนประท้วงตามถนนสายต่าง ๆ ทั่วประเทศอิสราเอล เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอิสราเอลลาออกจากตำแหน่ง และเปิดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ผู้ประท้วงบางส่วนมองว่า นายเนทันยาฮูกำลังเล่นกับชีวิตของตัวประกันเพื่อเจตนาทางการเมือง ทั้งที่อิสราเอลควรยอมรับข้อตกลงที่กำลังเจรจากันอยู่ เพราะชีวิตตัวประกันคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ในขณะที่บางส่วนมองว่า นายเนทันยาฮูปล่อยให้สงครามยืดเยื้อโดยปราศจากทางออกที่นำไปสู่การยุติการสู้รบ

*ยังไร้ทางออกที่ชัดเจน

แม้การสู้รบระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลจะล่วงเลยเข้าสู่เดือนที่ 7 แล้ว แต่นักวิเคราะห์ก็ยังไม่เห็นทางออกที่เป็นรูปธรรมในความขัดแย้งครั้งนี้ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่อิสราเอลตั้งเป้าหมายที่เกินจริง นั่นคือการกวาดล้างกลุ่มฮามาสจนสิ้นซาก และยืนกรานที่จะควบคุมดินแดนฉนวนกาซา

นาธาน ธรอล ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งอาหรับ-อิสราเอลมองว่า อิสราเอลตั้งเป้าที่ทำจริงได้ยาก “อิสราเอลไม่มีทางที่จะบรรลุเป้าหมายในการกำจัดกลุ่มฮามาสได้ เพราะฮามาสกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา อีกทั้งยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา” พร้อมเสริมว่า แม้สงครามแล้วเสร็จ กลุ่มฮามาสก็จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าอิสราเอลจะบุกเมืองราฟาห์หรือไม่ก็ตาม

คาเลด เอลจินดี นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการโครงการกิจการปาเลสไตน์และอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ประจำสถาบันมิดเดิล อีสต์ แสดงความที่สอดคล้องกันว่า การกำจัดกลุ่มฮามาสนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะยิ่งทำลาย ก็ยิ่งบ่มเพาะแรงโกรธแค้นมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความมั่นคงของอิสราเอลเอง

อีกเหตุผลสำคัญที่สงครามยังคงยืดเยื้อก็คือ นายเนทันยาฮูยืนกรานว่าจะควบคุมความมั่นคงในพื้นที่ดินแดนฉนวนกาซาทั้งหมด โดยมีพันธมิตรชาวปาเลสไตน์ในท้องถิ่นบริหารจัดการ และไม่ยอมพิจารณาหรือประนีประนอมข้อเสนออื่น ๆ ซึ่ง ฮา เฮลเยอร์ นักวิจัยอาวุโสด้านการศึกษาความปลอดภัย สถาบันบริการรอยัลยูไนเต็ด (RUSI) ในกรุงลอนดอนมองว่า “มีแผนงานที่เป็นไปได้มากมาย แต่กลับไม่มีแผนใดเลยที่สามารถใช้งานได้ เพราะอิสราเอลยืนกรานว่าจะควบคุมอนาคตฉนวนกาซาทั้งหมด”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top