คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้เห็นชอบกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงแนวทางการดำเนินโครงการฯ ที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยจะมีเกณฑ์ ได้แก่ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
2. เงื่อนไขการใช้จ่าย
2.1 ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2.2 ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า
การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. ประเภทสินค้า สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการฯ ได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ เป็นต้น และสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม
4. คุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) หรือ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT)
ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
5. การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย
6. แหล่งเงิน จะใช้เงินจากงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่
– เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งได้ขยายกรอบวงเงินงบประมาณเรียบร้อยแล้ว
– จากการการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยจะใช้ มาตรา 28 โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลประชาชนในกลุ่มที่เป็นเกษตรกร จำนวน 11 ล้านคนเศษ ผ่านกลไก มาตรา 28 ของปีงบประมาณ 68
– การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการไหนสามารถใช้หรือปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบกลางที่อาจนำมาใช้เพิ่มเติมได้หากวงเงินไม่เพียงพอ
7. ช่วงเวลาการดำเนินโครงการ ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะมีการเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
8. มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม ซึ่งจะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับมติที่ได้รับความเห็นชอบในวันนี้ กระทรวงการคลัง จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปภายในเดือนเมษายน 2567
สำหรับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการฯ การให้สิทธิแก่ประชาชน จำนวน 50 ล้านคน คิดเป็นจำนวนเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนดซึ่งจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก โดยจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ1.2 – 1.8% จากกรณีฐาน
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องแหล่งเงิน เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อกังวล ณ วันที่เริ่มโครงการในช่วงปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ยืนยันว่าทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน
เงินดิจิทัล 10,000 บาทจ่ายรวดเดียว
นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า เงินดิจิทัลที่เข้ากระเป๋าประชาชน จะเข้ามาพร้อมกันครั้งเดียว 10,000 บาท ส่วนที่กำหนดเงื่อนไขว่าร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่ายในรอบแรก แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป เนื่องจากในชั้นอนุกรรมการฯ มีข้อห่วงใยการทุจริตคอร์รัปชั่น และเรื่องการสร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงเห็นว่ากลไกใช้จ่ายเงินดิจิทัล ต้องใช้ 2 รอบเป็นอย่างต่ำ เพื่อให้เกิดตัวคูณทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้
“รอบแรกประชาชนใช้กับร้านค้าขนาดเล็ก จะเป็นร้านหน้าบ้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น พอใช้แล้วร้านค้านั้นก็นำไปซื้อสินค้าทุนกับร้านค้าอื่นๆ ต่อไปอีก 1 ทอด ถึงจะขึ้นเงินได้” นายจุลพันธ์ กล่าว
หวัง GDP ปี 68 โตใกล้เคียง 5%
รมช.คลัง กล่าวว่า ผลของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 68 เป็นหลัก และมั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยให้จีดีพีโตได้ใกล้เคียง 5% ตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้ และไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นเพียง 2 โครงการในหลายๆ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะออกมา และในปีต่อไปจะมีโครงการอื่นๆ ที่สร้างกำลังซื้อ สร้างการจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนต่อไป
ใช้ได้เฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกร้านค้าขนาดเล็ก เพื่อต้องการให้เงินกระจายอยู่ในพื้นที่และชุมชน และเงินหมุนเวียนในระบบมากที่สุด ส่วนร้านที่ไม่สามารถร่วมโครงการได้ คือ ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่
“ร้านที่เข้าร่วมได้ คือ ร้านค้าปลีกทุกประเภท และร้านสะดวกซื้อ แบบสแตนอโลน และแบบที่ตั้งอยู่ในสถานบริการน้ำมัน” นายเผ่าภูมิ ระบุ
ยันไม่ขัดวินัยการเงินการคลัง
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องแหล่งเงิน เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือ พ.ร.บ.เงินตรา ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อกังวล ณ วันที่เริ่มโครงการในช่วงปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ทั้งก้อน ไม่มีการใช้เงินสกุลอื่น หรือใช้มาตรการอื่นแทนเงิน ยืนยันว่าทำตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องครบถ้วน
ส่วนการใช้เงินของ ธ.ก.ส.ในงบประมาณปี 68 ซึ่งการดำเนินการต้องเป็นไปตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งได้ตรวจสอบอำนาจหน้าที่ ธ.ก.ส.แล้วว่าสามารถทำได้ และสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.มีเพียงพอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 67)
Tags: Digital Wallet, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ดิจิทัลวอลเล็ต, เศรษฐา ทวีสิน