ศึกชิงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรม (ส.อ.ท.) คนที่ 17 ระหว่าง นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน คนปัจจุบัน กับนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ในฐานะรองประธาน ส.อ.ท. ผู้ท้าชิง ใครจะยึดเก้าอี้สำเร็จรู้กันวันที่ 9 เม.ย.นี้
การที่นายสมโภชน์ ประกาศลงชิงเก้าอี้ประธานส.อ.ท.ในครั้งนี้ เป็นประเด็นที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมายอยู่พอสมควร เนื่องจากตามธรรมเนียมแล้ว ประธานส.อ.ท. จะสามารถดำรงตำแหน่งต่อได้ 2 วาระ (วาระละ 2 ปี) เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน แต่การฉีกธรรมเนียมปฏิบัติครั้งนี้ทำให้ถูกมองว่าองค์กรมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นหรือไม่ หรือมีวาระซ้อนเร้นแอบแฝง การเมืองเข้าแทรกแซงหรือไม่ เนื่องจากมีกระแสว่ามีอดีตประธานส.อ.ท.เป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังการท้าชิงครั้งนี้
เรื่องนี้ นายสมโภชน์ ได้ให้เหตุผลตั้งแต่ประกาศเจตนารมณ์ว่า แม้โดยปกติคณะกรรมการชุดเดิมสามารถบริหารงานต่อได้อีก 1 สมัย แต่ไม่ได้เป็นวัฒนธรรมตายตัว เพราะขณะนี้ระบบเศรษฐกิจมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันถูกจำกัด แข่งขันได้ไม่เต็มที่ ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนนโยบายของ ส.อ.ท.ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงต้องมีการบูรณาการมากขึ้นเพื่อให้เป็นทีมไทยแลนด์อย่างแท้จริง ผู้ประกอบการทุกคนมีความรู้ความสามารถ แต่ยังไม่มีโอกาสนำเสนอต่อส่วนรวม ส.อ.ท.จะเป็นเวทีในการแก้ปัญหาให้หมดไป ไม่วนอยู่ในอ่างต่อไป เรื่องนี้คงต้องยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก คงไม่รอเวลาอีก 2 ปี และยืนยันว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใคร
ตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.เป็นที่รู้กันว่า ถือเป็นตัวแทนหรือกระบอกเสียงของภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ เพราะสามารถส่งเสียงดังต่อรองกับภาครัฐในการออกนโยบายเศรษฐกิจต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันมีกฎหมายรองรับให้ประธานส.อ.ท. มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ด้วย เช่น คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี), คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี), คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ), คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ในบางยุคบางสมัยยังได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วย
การโหวตเลือกตั้งกรรมการ ส.อ.ท.ในด่านแรกเมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา จากสมาชิกประเภทสามัญ ครบ 244 คนแล้ว และจะนำไปรวมกับกรรมการประเภทแต่งตั้งอีก 122 คน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม 46 กลุ่ม และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด 76 จังหวัด รวมเป็น 366 คน ซึ่งจะลงมติเลือกประธาน ส.อ.ท.ภายใน 30 วัน
พอจะเห็นเค้าลางว่านายเกรียงไกร เธียรนูกูล ประธานฯ คนปัจจุบันมีโอกาสได้นั่งบริหารงานต่ออีกสมัย (2567-2569) เนื่องจากกรรมการที่จะลงมติเลือกประธานฯ เกินกว่า 90% เป็นกลุ่มที่สนับสนุนนายเกรียงไกร เพราะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรขึ้นเหมือนในอดีต อีกทั้งต้องการรักษาธรรมเนียมปฏิบัติที่จะเปิดโอกาสให้คนที่เป็นประธานฯ ดำรงตำแหน่ง 2 วาระ หรือมีโอกาสทำงานต่อเนื่อง 4 ปี
เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 เคยเกิดปัญหาความขัดแย้งวุ่นวายในการเลือกตั้งประธานฯ ระหว่างนายสันติ วิลาสศักดานน์ กับ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล จนส่งผลให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเกิดความด่างพร้อยไปไม่ใช่น้อย
ขณะที่บรรยากาศการช่วงโค้งสุดท้ายงวดนี้ก่อนถึงการเลือกตั้ง โดยมีการแฉข้อมูลกล่าวหากันเพื่อดิสเครดิต เช่น กรณีอ้างชื่อ ส.อ.ท.ไปเรี่ยไรเงินเพื่อเป็นทุนจัดทำแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX) และมีความพยายามจะแจ้งความดำเนินคดีต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กรณีการลบข้อมูลจากแฟลตฟอร์มดังกล่าวว่าสร้างความเสียหายให้กับ ส.อ.ท.
แม้ว่าตอนนี้ นายเกรียงไกรจะมีคะแนนนำมา แต่อย่าเพิ่งวางใจว่าจะนอนมา เพราะในยุคนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ คงต้องรอวัดใจบรรดาสมาชิกสภาอุตสาหกรรมต่างๆ ว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ หากผลงานเข้าตาสมาชิกก็คงเลือกกลับมาเป็นประธาน ส.อ.ท.อีกสมัยได้ไม่ยาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้น เพราะในอดีตในการเลือกตั้งประธานส.อ.ท.ก็เคยมีมาแล้ว จะซ้ำรอยหรือไม่
นอกจากนั้น เลือกตั้งจบแล้ว ไม่รู้ว่าคนในองค์กรเดียวกันจะยังร่วมกันทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป หรือมองหน้ากันสนิทใจเหมือนก่อนหรือไม่ หากไม่เป็นเช่นนั้น เป้าหมายที่จะให้สมาชิกรวมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตามที่ตั้งไว้คงแตกเป็นเสี่ยงๆ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 67)
Tags: ประธานสภาอุตสาหกรรม, ส.อ.ท., สมโภชน์ อาหุนัย, เกรียงไกร เธียรนุกุล