นายโทมัส บาร์กิน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เฟดสาขาริชมอนดกล่าวว่า คณะกรรมการเฟดควรใช้เวลามากขึ้นในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดยเขามองว่าการที่เศรษฐกิจมหภาคและตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากในขณะนี้ ทำให้เฟดจำเป็นต้องจับตาทิศทางเงินเฟ้ออย่างระมัดระวัง
“แม้เศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ขยายตัวร้อนแรงเกินไป แต่ก็ถือว่ามีความแข็งแกร่งมากในขณะนี้ ผมจึงมองว่าเฟดควรใช้เวลามากขึ้นในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ เว้นแต่จะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย” นายบาร์กินกล่าวในการประชุมซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สร้างบ้านในรัฐเวอร์จิเนียเมื่อวานนี้ (4 เม.ย.)
นายบาร์กินยังกล่าวด้วยว่า “ไม่มีใครต้องการให้ปัญหาเงินเฟ้อกลับมาอีก และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลในขณะนี้พบว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และค่าจ้างมีการขยายตัวรวดเร็วเกินไป ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ทำให้เฟดต้องจับตาทิศทางเงินเฟ้ออย่างระมัดระวัง”
อย่างไรก็ดี นายบาร์กินมองว่า อัตราดอกเบี้ยของเฟดที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้ จะช่วยชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ และอาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวลงสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ของเฟด
การแสดงความเห็นของนายบาร์กินมีขึ้นในวันเดียวกับที่นายนีล แคชแครี ประธานเฟดสาขามินนีแอโพลิสส่งสัญญาณว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่งและเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลงตามที่เฟดคาดหวังไว้
“ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ซึ่งมีการเผยแพร่หลังการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายของเฟด (FOMC) เมื่อวันที่ 20 มี.ค.นั้น ผมเป็นหนึ่งในกรรมการเฟดที่คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้หากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในทิศทางที่จะกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% แต่ขณะนี้ผมมองว่าหากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นในปีนี้” นายแคชคารีกล่าวในการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยบริษัทเพนชันส์ แอนด์ อิสเวสเมนท์ เมื่อวานนี้ (4 เม.ย.)
ในรายงาน Dot Plot ซึ่งมีการเผยแพร่หลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เฟด 10 รายคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟด 9 รายคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งหรือน้อยกว่านั้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 67)
Tags: ดอกเบี้ยนโยบาย, ตลาดแรงงาน, ธนาคารกลางสหรัฐ, อัตราดอกเบี้ย, เงินเฟ้อ, เฟด, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจมหภาค