ผู้บริหารสำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย ฟันธงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เม.ย.นี้จะมีมติลดดอกเบี้ยลง 0.25% ไม่ใช่แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง แต่ กนง.ต้องการผ่อนคลายมาตรการการเงิน เพราะมองเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า และคาดหวังลดดอกเบี้ยตอบโจทย์ระยะยาว แนะจับตาบาทอ่อน-เงินไหลออก
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) คาดว่า การประชุม กนง.วันที่ 10 เม.ย. 67 จะได้เห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกของปีนี้ จากเหตุผลที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า รัฐบาลยังขาดงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคเอกชนระมัดระวังการใช้จ่าย การลงทุนและการส่งออกฟื้นตัวช้า โดยมีเพียงตัวขับเคลื่อนเดียว คือภาคการท่องเที่ยว จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังซึมตัวในช่วงนี้ จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนให้มีการผ่อนคลายมาตรการทางการเงินได้
หลังจากการประชุมครั้งนี้ ก็คาดว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในช่วงปลายปี ซึ่งจะทำให้ ณ สิ้นปี 67 ดอกเบี้ยนโยบายน่าจะลงไปอยู่ที่ 2.00% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.50%
“การประชุมวันที่ 10 เม.ย. เรามองว่ามีโอกาสจะลดดอกเบี้ยครั้งแรก จาก 2.50% เหลือ 2.25% และหลังจากนั้น การประชุมครั้งต่อไปเดือนมิ.ย. ก็มีโอกาสการลดอีกครั้งหนึ่ง ที่เรามองว่าปลายปีจะเหลือ 2.00% ก็อาจจะมาจบที่ 2.00% ตั้งแต่กลางปีนี้เลยก็เป็นได้” นายอมรเทพ กล่าว
นายอมรเทพ มองว่า หากครั้งนี้ กนง.ปรับลดดอกเบี้ยลง ก็คงไม่ใช่ทำเพราะต้านทานกระแสกดดันจากฝ่ายการเมืองไม่ไหว แต่น่าจะทำเพื่อตอบโจทย์ในระยะยาวมากกว่า เพราะทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพต่ำลง มีปัญหาเชิงโครงสร้างมากมาย เช่น การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และขาดการลงทุนจากต่างชาติ เป็นต้น
สำหรับผลต่อเศรษฐกิจจากการลดดอกเบี้ยของ กนง.ในครั้งนี้ อาจจะไปเห็นผลในช่วงปลายปี เพราะการส่งผ่านจาก กนง. มาสู่ภาคธนาคารพาณิชย์ที่จะลดดอกเบี้ยตาม เอกชนเข้ามากู้เงิน ต้นทุนถูกลง มีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น นำไปใช้จ่ายมากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น กว่าจะขายของได้ เกิดภาวะเศรษฐกิจที่มีเงินเข้ามาหมุนในระบบเพิ่มขึ้น อาจต้องใช้เวลาเป็นอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งก็จะเห็นผลช่วงปลายปี เมื่อถึงตอนนั้นเศรษฐกิจไทยก็อยู่ในช่วงการฟื้นตัวแล้ว เพราะการใช้จ่ายภาครัฐก็มา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็มี
*มติ กนง.10 เม.ย. การสื่อสารที่ท้าทาย
นายอมรเทพ ย้ำว่าเรื่องการสื่อสารของ กนง.ที่จะออกมาในวันที่ 10 เม.ย.ถือว่าสำคัญและมีความท้าทายมาก เพราะก่อนหน้านี้ เคยมองกันว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ขาดการลงทุน ขาดการใช้จ่ายภาครัฐ หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้โตช้า แต่หากตัดสินใจลดดอกเบี้ยจริง แปลว่าภาพได้เปลี่ยนไปแล้วหรือไม่ หรือนั่นจะหมายความว่า กนง.ยอมรับว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือไม่ ซึ่งก็คงจะไม่ได้หมายความเช่นนั้น เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่ แต่การลดดอกเบี้ย เป็นการทำเพื่อช่วยประคองศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เป็นการช่วยอนาคต ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี จะบอกว่าดอกเบี้ยอย่างเดียวที่เป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้เศรษฐกิจไทยเติบโตหรือเปล่า ก็คงไม่ใช่เช่นกัน เพราะจริงๆ แล้วยังมีปัญหาอื่นๆ มากมาย แต่การลดดอกเบี้ย จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยประคองและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่ตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้อยู่ที่ภาครัฐ นั่นคือ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนภาครัฐ และการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน
“การลดดอกเบี้ย ต้องสื่อสารให้ชัดว่าเป็นการประคอง ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างเดียว แต่เป็นการประคองศักยภาพในระยะยาวของไทยที่เราโตต่ำลง นั่นหมายความว่า การลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยในอนาคต ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะสั้น ดังนั้นสิ่งที่อยากจะเห็นคือ ถ้า กนง.ลดดอกเบี้ยแล้ว ต้องมีการสื่อสารชัดเจนว่า นี่คือการช่วยพยุง ช่วยประคองเศรษฐกิจไทย และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาว เราอยากเห็นความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่เดินหน้าไปด้วยกัน” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสำนักวิจัย CIMBT กล่าว
*จับตาผลข้างเคียงหาก กนง.ลดดอกเบี้ย
สิ่งที่ต้องจับตา คือ ผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นจากการลดดอกเบี้ยของ กนง.หากเกิดขึ้นก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ย นั่นคือ เงินบาทอ่อนค่า
แม้เงินบาทอ่อนค่าจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ต้องระมัดระวังให้ดีในจุดนี้ เพราะมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ลดดอกเบี้ยก่อนสหรัฐ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ที่เมื่อลดดอกเบี้ยแล้ว ค่าเงินสวิตฟรังก์อ่อนค่าลงแรง จนนักลงทุนไม่เชื่อมั่น เกิดภาวะเงินทุนไหลออก และมีการเก็งกำไรค่าเงินอย่างมาก
“ต้องติดตามให้ดีว่า ประเทศไทย ถ้า 10 เม.ย. เราไม่ได้มีการสื่อสารที่ชัดเจน หรือการเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เกิดมีการลดดอกเบี้ยอย่างที่เราคาดกัน สุดท้ายสิ่งที่จะตามมา คือเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเราไม่รู้จริงๆ ว่าจุดไหนที่นักลงทุนพอใจ หรือการเก็งกำไรที่เกิดขึ้น มันจะไปที่เท่าไร อาจจะเป็น 37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็เป็นไปได้” นายอมรเทพ กล่าว
*ดอกเบี้ยขาลง แนะกู้เท่าที่จำเป็น กู้เท่าที่ผ่อนไหว
นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เป็นขาลงแน่นอน ไม่ว่าครั้งนี้จะปรับลดหรือไม่ ในภาวะที่ดอกเบี้ยขาลงแล้วเศรษฐกิจเติบโตได้ ก็จะทำให้รายได้โตกว่ารายจ่าย โอกาสที่จะชำระหนี้ได้ดีก็มีมากขึ้น หนี้ครัวเรือนจะเริ่มทยอยลดลง
แต่อย่างที่บอกว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจระยะสั้น ดังนั้น จึงต้องอาศัยมาตรการภาครัฐ มาตรการการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนไปพร้อมกับการลดดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่อง
อย่างไรก็ดี ต้องระมัดระวังด้วยว่า เมื่อลดดอกเบี้ยแล้วคนจะรู้สึกว่ากู้ง่ายขึ้น ต้นทุนถูกลง สุดท้ายการกู้ยืมอาจจะยิ่งมีมากขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะมากขึ้นตามมา และจะเป็นปัญหาในระยะต่อไป
“ต้องเตือนจริงๆ ว่าดอกเบี้ยขาลง ควรกู้เท่าที่จำเป็นในการบริโภค กู้เท่าที่เราผ่อนไหว ส่งเงินต้นไหว ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่เราต้องดูแลตัวเอง ไม่ใช่ดูแค่ว่าดอกเบี้ยขาลงแล้วกู้ได้ ลงทุนต่างๆ นานาได้ ต้องดูตัวเราเอง ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์เศรษฐกิจในระยะยาว เพราะถ้าครัวเรือนมีความมั่นคงทางการเงิน สามารถอยู่ได้ในช่วงที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจ สามารถชำระหนี้ได้ เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนได้ เราเองก็สามารถอยู่รอดได้”
นายอมรเทพ กล่าวในท้ายสุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 67)
Tags: กนง., คณะกรรมการนโยบายการเงิน, อมรเทพ จาวะลา