ผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) เปิดเผยว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากความร้อน (heat stress) อาจพุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัวสู่ระดับ 1.64 พันล้านดอลลาร์ในปี 2578 จากระดับก่อนโควิด-19 ระบาดในปี 2561 เนื่องจากผลิตภาพแรงงาน (labor productivity) ลดลง
รายงานดังกล่าวระบุว่า ย้อนกลับไปในปี 2561 ความร้อนส่งผลให้ผลิตภาพโดยเฉลี่ยลดลง 11.3% ในภาคส่วนเศรษฐกิจใหญ่ทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านการบริการ การก่อสร้าง การผลิต และการเกษตร และตอนนี้สถานการณ์ดังกล่าวส่อแววจะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ
รายงาน NUS Project HeatSafe คาดการณ์ว่า ผลิตภาพจะลดลงถึง 14% ในปี 2578 โดยจะนำมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ 2.22 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หลังปรับค่าตามเงินเฟ้อ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ความสูญเสียดังกล่าวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับแรงงานที่ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากเช่น ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หรือผู้ที่ต้องเผชิญกับแหล่งความร้อนอื่น ๆ เช่น เครื่องจักร
“มีการคาดการณ์กันว่า ในทุก ๆ วันที่อากาศร้อน ประสิทธิภาพในการทำงานของคนงานที่ลดลงในเวลางาน (เช่น การฝืนตัวไปทำงาน) อาจส่งผลให้สูญเสียรายได้เฉลี่ยคนละ 21 ดอลลาร์สิงคโปร์”
Project HeatSafe นับเป็นการวิจัยขนาดใหญ่ชิ้นแรกของสิงคโปร์ตลอดจนของภูมิภาคนี้ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อวัดประเมินผลกระทบจากความร้อนที่ไต่ระดับขึ้นต่อผลิตภาพและสุขภาพของบุคคลและเศรษฐกิจระดับมหภาค
อุณหภูมิของสิงคโปร์ปรับตัวขึ้นเร็วกว่าทั่วโลกเป็นเท่าตัว โดยดัชนีรังสียูวี (UV index) พุ่งสูงขึ้นแตะระดับ “สุดขั้ว” เป็นครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลา 4 วัน ซึ่งถือเป็นระดับที่ระดับสูงที่สุดตามมาตรวัดรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ของสิงคโปร์ ขณะที่มาตรวัดล่าสุดชี้ว่าอยู่ที่ระดับ “ปานกลาง” ในวันนี้ (3 เม.ย.)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 67)
Tags: สิงคโปร์, อากาศร้อน