นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายกระทรวงคมนาคมว่า ได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมหาแนวทางและวิธีในการแก้ปัญหาการจราจรบนทางด่วนในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ
เนื่องจากปริมาณรถมีมากกว่าจำนวนช่องจราจร รวมถึงผู้ใช้ทางแบกรับค่าทางด่วนในอัตราที่สูง เนื่องจากปัจจุบันมีสัญญาสัมปทานบริหารทางด่วน รวมถึงการมีด่านเก็บค่าผ่านทางหลายจุดในเส้นทางที่เป็นโครงข่ายต่อเนื่องกัน
โดยให้ศึกษาปรับอัตราค่าผ่านทางให้เหมาะสมถูกต้องตามที่ควรจะเป็น ซึ่งกทพ.และสนข.จะต้องร่วมกันเจรจากับคู่สัญญาหาทางแก้ปัญหาให้ประชาชน ส่วนจะเป็นการลดค่าผ่านทางแล้วทำให้รายได้ผู้รับสัมปทานหายไป รัฐก็อาจต้องพิจารณาชดเชยขยายระยะเวลาสัมปทานให้เอกชนแลกเปลี่ยน แต่ผลประโยชน์สุดท้ายจะมาตกที่ประชาชน ที่ลดภาระค่าใช้จ่ายลง ส่วนรัฐก็ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม โดยให้นำกลับมาเสนอคณะกรรมการชุดนี้ภายใน 2 เดือน
“โครงการทางด่วนของกทพ.ที่เปิดใช้แล้วแต่ละโครงการ ที่แม้จะมีเส้นทางที่กำหนดให้ต่อเนื่องกัน แต่จะแยกเป็นคนละสัญญา ทำให้ประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่าผ่านทางในแต่ละโครงการ และไม่มีส่วนลดให้ เท่าที่รับฟังข้อมูลจากประชาชน เคยจ่ายสูงสุดเกือบ 150 บาท จึงอยากให้ไปศึกษาว่าจะลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อย่างไร หรือกำหนดอัตราสูงสุดเหมาะสมควรไม่เกินเท่าไร ในการใช้ทางด่วนแต่ละครั้ง บางด่านที่ไม่จำเป็นอาจจะยกเลิกด่านนั้นไปก็ได้ เพราะบางเส้นทางวิ่งผ่านสั้นๆแค่นิดเดียว แต่ต้องจ่ายค่าผ่านทางสูงเกินไป”นายสุริยะ กล่าว
ปัจจุบันทางพิเศษ มี 7 เส้นทาง แบ่งเป็น การบริหารโดย กทพ.รวม 4 เส้นทาง และการบริหารโดยสัญญาสัมปทาน บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) จำนวน 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษประจิมรัถยา (ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด)
สำหรับทางด่วนนั้น มีการจัดเก็บค่าผ่านทาง 2 แบบ คือ 1 ระบบที่กำหนดให้จ่ายตามระยะทางที่ใช้ เช่น สายบางนา-ชลบุรี 2. จ่ายตามสภาพสัญญาที่ทำกับเอกชน ซึ่งอาจจะพบว่า มีบางช่วง วิ่งไม่กี่กิโลเมตรแต่ต้องจ่ายค่าผ่านทาง 2 ด่าน เช่น ออกจากพระราม 9 แล้วไปเลี้ยวเพื่อมุ่งไปเลียบทางด่วน ระยะทาง 3-4 กม. จะจ่าย 2 ด่าน คือ 25 บาท และ 30 บาท นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ไข เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน
กรณีรถไฟฟ้าสายต่างๆ มีปัญหา ภาครัฐ ยังไม่มีเครื่องมือในการกำกับดูและบังคับได้อย่างเต็มที่ จึงเร่งรัด ผลักดันร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ….เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับควบคุมโครงการได้เข้มข้นขึ้นรวมถึงเพิ่มมาตรการต่างๆ ได้ นอกเหนือจากเงื่อนไขในสัญญา หากผู้ประกอบการทำผิด หรือมีเหตุต่างๆ รัฐสามารถปรับ หรือยกเลิกสัญญาได้ เป็นต้น ซึ่งให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) นำเสนอร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางรางมาที่กระทรวงคมนาคมโดยเร็ว เนื่องจากตนได้ตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนแล้ว และได้มีการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว เพื่อเร่งเสนอครม.อนุมัติและคาดว่าปลายปี 2567 จะเสนอรัฐสภา 3 วาระและบังคับใช้ภายในปลายปี 2567 หรือไม่เกินต้นปี 2568
สำหรับประเด็น รถไฟฟ้าระบบโมโนเรล ในต่างประเทศไม่นิยมใช้เพราะเหตุผลเรื่องความปลอดภัย นายสุริยะ กล่าวว่า เราต้องไปดูตอนที่กำหนดเงื่อนไขในสมัยรัฐบาลเดิม ที่เขาอาจเห็นว่าเป็นรถไฟฟ้าแบบโมโนเรลอาจจะถูกกว่าก็เลยมีการกำหนดใช้ระบบโมโนเรล เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ผู้ที่ได้รับสัมปทานก็ต้องดูแลความปลอดภัย ใส่ใจให้มาก ปัญหาก็จะน้อยลง และสามารถแก้ไขได้ ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมก็ต้องกวดขันความปลอดภัยให้มากขึ้นด้วย
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ขณะนี้พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมพ.ศ…. คืบหน้าประมาณ 90%แล้ว กระทรวงคมนาคมอยู่ในขั้นตอนตรวจสอบความเรียบร้อย คาดว่าจะเสนอครม.ได้เร็วๆ นี้
นอกจากนี้ สนข. และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางการจัดเส้นทาง Feeder เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะผลักดันดำเนินการระยะเร่งด่วน 30 เส้นทาง ภายในปี 2567 เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดง ส่วนระยะกลางภายในปี 2568 – 2569 จะผลักดันอีก 15 เส้นทางรองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีส้ม และอีก 66 เส้นทางจะดำเนินการในระยะถัดไปตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 เม.ย. 67)
Tags: คมนาคม, ค่าทางด่วน, ทางด่วน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ