เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมีแนวโน้มขยายตัวช้ากว่าช่วงก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด แม้จะขยายตัวเร็วกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของโลกก็ตาม โดยเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะได้แรงหนุนจากการค้าโลกที่ฟื้นตัวขึ้นและสภาวะทางการเงินที่กระเตื้องขึ้น แต่การกีดกันการค้าและความไม่แน่นอนเชิงนโยบายจะบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าว
ธนาคารโลกคาดการณ์ในรายงานความคืบหน้าทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกประจำเดือนเม.ย. 2567 ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (31 มี.ค.) ว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะขยายตัวช้าลงสู่ 4.5% ในปี 2567 หลังจากขยายตัว 5.1% ในปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งไม่นับรวมจีน จะขยายตัวที่ 4.6% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากที่ได้ขยายตัว 4.4% ในปี 2566 ขณะที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ 4.5% ในปีนี้ จากการขยายตัว 5.2% ในปี 2566 โดยถูกกดันจากปัญหาหนี้สูง ภาคอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอ และความขัดแย้งทางการค้า
ในกลุ่มประเทศเกาะแปซิฟิก ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวช้าลงสู่ 3.6% ในปีนี้ จาก 5.6% ในปีที่ผ่านมา เนื่องจากการฟื้นตัวหลังผ่านพ้นช่วงโควิด-19 ระบาดเริ่มแผ่วลง โดยการชะลอตัวบางส่วนนั้นมาจากเศรษฐกิจฟิจิที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวในระดับปกติที่ 3.5% ในปีนี้ หลังจากขยายตัวแข็งแกร่งเป็นพิเศษที่ 8% ในปีที่ผ่านมา
“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จะเผชิญภาวะแวดล้อมระดับโลกที่ท้าทายและไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” มานูเอลา วี เฟอร์โร รองประธานฝ่ายเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก ระบุ
“กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกสามารถรักษาแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจได้ โดยเร่งเปิดรับกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นเพื่อดึงดูดให้นักลงทุนภาคเอกชนเข้าไปลงทุน รวมถึงแก้ไขปัญหาในภาคการเงินและกระตุ้นผลิตภาพ” เฟอร์โร กล่าวเสริม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 เม.ย. 67)
Tags: ธนาคารโลก, เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก, เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก