นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรทำนโยบาย “ดิจิทัลวอลเลต” โดยการใช้เงินผ่านระบบงบประมาณ ดีกว่าออก พ.ร.บ.เงินกู้ ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความเสี่ยงผิดกฏหมาย ลดความเสี่ยงทางการเมือง จากกลไกขององค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ขณะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณปี 2568 จึงสามารถขยายกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้น และทำขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้
อย่างไรก็ดี ความจำเป็นในการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจลดน้อยลง เพราะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปีนี้ จะมีการฟื้นตัวชัดเจน การใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นเรื่องสำคัญพอๆ กับการไม่ก่อหนี้สาธารณะเกินความจำเป็น หากเกิดผลกระทบภายนอกเชิงลบอันไม่คาดฝันเกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลจะได้มีพื้นที่ทางการคลังมากขึ้นในการรับมือความท้าทาย
ขณะที่การใช้งบประมาณ หรือกองทุนในการพยุงราคาพลังงาน ไม่ให้สูงเพื่อช่วยเหลือประชาชน ต้องกำหนดกรอบเวลาและเพดานของภาระทางการคลังให้ชัดเจน เพื่อสามารถบริหารจัดการงบประมาณและหนี้สาธารณะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ต้องใช้การปรับโครงสร้างและมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ มาตรการระยะสั้นทั้งหลายไม่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงบรรเทาปัญหาเท่านั้น การเตรียมพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้เพียงพอนั้นมีความจำเป็น เพราะสถานการณ์ในอนาคตไม่แน่นอน
ทั้งนี้ การที่รัฐบาลแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้ไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นภาคการบริโภค และการลงทุนขนาดเล็กให้ขยายตัวสูงขึ้นปลายปีต่อเนื่องถึงต้นปี 68 อีกทั้งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่ GDP ปี 68 จะขยายตัวได้มากกว่าปีนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 67)
Tags: ดิจิทัลวอลเล็ต, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เงินดิจิทัล, เศรษฐกิจไทย