สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ (31 มี.ค.) ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค. 2567 พลิกกลับมาขยายตัว โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.8 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 49.1 ในเดือนก.พ.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว
ส่วนดัชนี PMI นอกภาคการผลิตซึ่งรวมภาคบริการและการก่อสร้าง ปรับตัวขึ้นสู่ 53.0 ในเดือนมี.ค. จาก 51.4 ในเดือนก.พ.
นอกจากนี้ NBS ระบุว่า ดัชนีรวมภาคการผลิตและบริการ ขยายตัวอยู่ที่ 52.7 ในเดือนมี.ค. จาก 50.9 ในเดือนก.พ.
ตัวชี้วัดที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมานี้แสดงให้เห็นว่าจีนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ โดยก่อนหน้านี้เหล่าผู้กำหนดนโยบายได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่จีนยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด-19
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว China Beige Book International (CBBI) เปิดเผย China Beige Book ซึ่งเป็นรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจจีน โดยระบุว่า “ข้อมูลเดือนมี.ค.สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะทำผลงานอย่างแข็งแกร่งในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 1 ส่วนการจ้างงานทำสถิติฟื้นตัวยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2563 ภาคการผลิตและค้าปลีกก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงอยู่ในภาวะตกต่ำอย่างหนัก และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโต ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นและธนาคารรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่มีหนี้สินมาก
เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ประกาศเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสำหรับปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 5% ในการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ซึ่งถือเป็นสภาตรายางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ผู้กำหนดนโยบายจีนจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจากในปี 2566 ตัวเลขการเติบโตของจีนดูดีเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่เศรษฐกิจแย่ (Low base effect) ดังนั้นในปี 2567 จีนจะไม่สามารถอาศัยปัจจัยทางสถิตินี้ได้อีกต่อไป
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 มี.ค.) ทางซิตี้ (Citi) ปรับเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้เป็น 5.0% จากเดิมที่ 4.6% โดยอ้างถึง “ข้อมูลเชิงบวกที่ออกมาล่าสุด และนโยบายที่ประกาศออกมา”
อนึ่ง เมื่อวันที่ 1 มี.ค. คณะรัฐมนตรีของจีนอนุมัติแผนที่มุ่งส่งเสริมการอัปเกรดอุปกรณ์ขนาดใหญ่และกระตุ้นยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยหัวหน้าหน่วยงานวางแผนของรัฐบาลจีนกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า แผนดังกล่าวอาจช่วยสร้างดีมานด์ในตลาดได้มากกว่า 5 ล้านล้านหยวน (6.9163 แสนล้านดอลลาร์) ต่อปี
นักวิเคราะห์หลายคนกังวลว่าในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษนี้ จีนอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะงักงันแบบเดียวกับญี่ปุ่นเมื่อในอดีต เว้นแต่ว่าผู้กำหนดนโยบายจะดำเนินการเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มุ่งเน้นการบริโภคในครัวเรือนและการจัดสรรทรัพยากรด้วยกลไกตลาด ลดการพึ่งพาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างหนักหน่วงเหมือนในอดีต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 67)
Tags: PMI, จีน, เศรษฐกิจจีน