สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รายงานด้านแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับหนึ่งที่เผยแพร่ระหว่างการประชุมเอเชีย โป๋อ๋าว (BFA) ประจำปี 2024 ในตำบลโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนานทางตอนใต้ของจีนบ่งชี้ให้เห็นว่า แรงขับเคลื่อนและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคของเอเชียยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวราว 4.5% ในปี 2567 และจะยังคงเป็นภูมิภาคที่มีส่วนส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากที่สุด
ระหว่างการประชุมย่อย “เอเชีย : การสร้างศูนย์กลางความเจริญ” (Asia: Building an Epicentrum of Growth) ผู้แทนจากหลายประเทศร่วมกันหารือในหลายหัวข้อ อาทิ การสร้างเอเชียให้เป็นศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก และการยกระดับกลไกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
ลี ฮี-ซอบ (Lee Hee-sup) เลขาธิการสำนักเลขาธิการความร่วมมือจีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้กล่าวว่า สำนักเลขาธิการฯ ก่อตั้งร่วมกันโดยจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เมื่อปี 2554 และหลายปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียได้สร้างความไว้วางใจระหว่างกันผ่านกลไกความร่วมมือต่างๆ รวมถึงเพิ่มความครอบคลุมและประสิทธิภาพผ่านความตกลงฯ พร้อมเสริมว่าต้องทำให้กลไกที่หลากหลายเหล่านี้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน
ด้านเกรซ ฟู่ (Grace Fu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของสิงคโปร์กล่าวว่า กลุ่มประเทศเอเชียจำเป็นต้องร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นบนพื้นฐานของการเคารพกติกาทางการค้า ลดความขัดแย้งทางการค้า เพิ่มการลงทุน ขยายขนาดตลาด พร้อมแนะว่า เมื่อแต่ละอุตสาหกรรมถูกหลอมรวมสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างเต็มที่
เกา กิม ฮวน (Kao Kim Hourn) เลขานุการ-เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวถึง 6 ประเด็นที่ควรให้ความสำคัญได้แก่ สันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด บุคลากรผู้มีความสามารถ และศักยภาพของการร่วมมือ โดยกลุ่มประเทศเอเชียควรสำรวจศักยภาพความร่วมมือด้านใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจสีน้ำเงิน และเสริมว่าจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนเป็นเวลา 14 ปีติดต่อกัน ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งส่งเสริมความตกลงฯ เพื่อให้บรรดาอุตสาหกรรมและธุรกิจใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ได้อย่างเต็มที่
ยาง บยอง-เน (Yang Byeong-nae) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้แนะนำว่า กลุ่มประเทศเอเชียควรมุ่งเน้นการร่วมมือเชิงคุณภาพและการยกระดับการผลิต แบ่งงานกันตามข้อได้เปรียบของแต่ละประเทศ โดยเกาหลีใต้ยินดีที่จะแบ่งปันเทคโนโลยีขั้นสูงกับกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งหวังว่าจะไม่จำกัดเพียงแค่ระหว่างรัฐบาล แต่ยังรวมถึงวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และภาคเอกชนอื่นๆ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากนี้ กลุ่มประเทศเอเชียควรมองภาพกว้าง มุ่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูงวัยของประชากร เพื่อสร้างเอเชียสู่ศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกอย่างแท้จริง
ยาง บยอง-เนเชื่อว่า ความตกลงฯ จะช่วยกลุ่มประเทศเอเชียให้บรรลุความร่วมมือกันอย่างเกื้อกูล และส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ได้เปิดตัวแผนการประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของเกาหลีใต้เข้าใจความตกลงฯ มากยิ่งขึ้น
อนึ่ง การประชุมเอเชีย โป๋อ๋าว ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค. จัดขึ้นในหัวข้อการประชุม “เอเชียและโลก : ความท้าทายร่วมกัน ความรับผิดชอบร่วมกัน” (Asia and the World: Common Challenges, Shared Responsibilities)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มี.ค. 67)
Tags: BFA, XINHUA, การประชุมเอเชีย โป๋อ๋าว, จีน, ภูมิภาคเอเชีย, เศรษฐกิจโลก