นายอลงกต บุญมาสุข ประธานกรรมการบริหารและเลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยในประเทศกำลังจะเข้าสู่ขาลง แต่เชื่อว่าการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินจะยังเข้มงวดเหมือนเดิม เพราะสถาบันการเงินต่างยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนและความผันผวนของเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่
สถาบันการเงินยังคงให้ความสำคัญและปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพราะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน ทำให้ความเสี่ยงจะน้อยกว่าสินเชื่อประเภทอื่น แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับสูง 90-91% ของ GDP แต่หากมาดูหนี้เสียของสินเชื่อที่อลู่อาศัยนั้นยังไม่ได้สูงจนเกิดความน่ากังวล โดยหนี้เสียน้อยกว่าสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคล
สถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อบ้านได้หันมาเน้นเรื่องราคาบ้านและรายได้ของลูกค้าที่จะสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ โดยมีการคัดกรองและพิจารณาความสามารถในการกู้ของลูกค้ามากขึ้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาหนี้เสียจากการที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ในอนาคต ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงราว 40-50% แต่ก็ถือว่าเป็นการช่วยควบคุมปริมาณหนี้เสียที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคต โดยจะเห็นว่าการอนุมัติสินเชื่อหลังโควิด-19 เป็นต้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 330,000 สัญญา/ปี ลดลงจากก่อนโควิด-19 ที่เฉลี่ย 375,0000 สัญญา/ปี เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยกู้มากขึ้น
ในปีนี้สถาบันการเงินต่างเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้เกิน 50,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้เพียงพอ และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่ดี และกลุ่มราคาบ้าน 3 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากกลุ่มราคาบ้านต่ำกว่า 3 ล้านบาทพบว่ามีปัญหาเรื่องของการผ่อนชำระ และเป็นกลุ่มที่หนี้เสียปรับเพิ่มขึ้น
“ตอนนี้ภาพจะเป็นบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทมีความเสี่ยงสูง เพราะมีหนี้ครัวเรือนสูง เจอผลกระทบจากโควิด-19 และดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ทำให้นโยบายของแบงก์จะต้องหันไปโฟกัสบ้านเกิน 3 ล้านบาท และรายได้เกิน 50,000 บาท ที่น่าจะเป็นกลุ่มปลอดภัย แต่ก็ยังต้องสกรีน เนื่องจากบางคนอาจมีหนี้หลายก้อน เพื่อควบคุมหนี้เสีย” นายอลงกต กล่าว
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านอาจต้องรอดูทิศทางดอกเบี้ยนโยบายจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนเม.ย.นี้ แต่มองว่าดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุดแล้วและกำลังค่อยๆเข้าสู่ขาลง ซึ่งในมุมของสถาบันการเงินในช่วงดอกเบี้ยขาลง อาจจะมีการทำแคมเปญอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate) แต่ยังขึ้นกับกลยุทธ์ของแต่ละแห่ง แต่ในมุมมองของลูกค้าอาจต้องการอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate) เพื่อจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยที่ปรับลดลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 67)
Tags: สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อที่อยู่อาศัย, สินเชื่อบ้าน, อลงกต บุญมาสุข, อสังหาริมทรัพย์, เศรษฐกิจไทย