นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนก.พ. 67 มีปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอย เพื่อการบริโภคของภาคเอกชนโดยเฉพาะในภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ อีกทั้งเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีในหลายภูมิภาค
– ภาคตะวันตก
ปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคของภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 10.2% ต่อปี และรายได้เกษตรกรขยายตัว 2.1% ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 62.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัว 12.9% ต่อปี และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 345.6 ล้านบาท ขยายตัว 437.4% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตกล่องกระดาษ ในจังหวัดเพชรบุรี เป็นสำคัญ ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -41.0% ต่อปี แต่ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 9.2% และ 23.8% ต่อปี ตามลำดับ
– ภาคกลาง
ปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคของภาคเอกชน และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัว อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น
โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 19.8% ต่อปี ส่วนรายได้เกษตรกรชะลอตัว -10.7% ต่อปี แต่ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 62.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 61.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -28.9% ต่อปี แต่ขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกันกับจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ที่ชะลอตัว -15.1% ต่อปี แต่ขยายตัว 33.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ด้านเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 1,024.8 ล้านบาท ขยายตัว 330.1% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต ในจังหวัดอยุธยา เป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ 19.6% และ 32.2% ต่อปี ตามลำดับ
– ภาคใต้
ปัจจัยสนับสนุนจากการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการบริโภคของภาคเอกชน และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัว อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัว 15.6% และ 6.4% ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 60.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.9 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -25.3% ต่อปี แต่ขยายตัว 16.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 259.2 ล้านบาท ขยายตัว 54.6% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำดื่มและผลิตขวดพลาสติก ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 91.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.2 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 40.7% และ 51.8% ต่อปี ตามลำดับ
– กทม. และปริมณฑล
ปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการที่ขยายตัวได้ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 7.2% ต่อปี ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 63.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 62.7 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -5.2% ต่อปี แต่ขยายตัว 23.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 3,284.6 ล้านบาท ขยายตัว 143.9% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตเครื่องมือหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในจังหวัดปทุมธานี เป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 11.6% และ 34.1% ต่อปี ตามลำดับ
– ภาคเหนือ
ปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัว 5.8% ต่อปี ขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัว -5.6% ต่อปี แต่ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ส่วนจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 64.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 63.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -24.6% ต่อปี แต่ขยายตัว 11.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล เช่นเดียวกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 401.0 ล้านบาท ขยายตัว 70.1% ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ในจังหวัดลำพูน เป็นสำคัญ
ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 94.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 96.7 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 5.3% และ 15.9% ต่อปี ตามลำดับ
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัว 3.1% และ 0.5% ต่อปี ตามลำดับ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 66.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 65.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ขณะที่จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว -15.2% ต่อปี แต่ขยายตัว 16.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล
ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 78.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 81.5 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 17.0% และ 18.4% ต่อปี ตามลำดับ
– ภาคตะวันออก
ปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ชะลอตัว -2.8% ต่อปี แต่ขยายตัว 2.0% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 66.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 65.6 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว
ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 88.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 91.1 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัว 13.9% และ 37.5% ต่อปี ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มี.ค. 67)
Tags: พรชัย ฐีระเวช, สศค., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง