SCB EIC – KTB มองส่งออกไทยโตแผ่ว หลังหลายปัจจัยลบฉุดการค้าโลกโตต่ำกว่าคาด

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับประมาณการการส่งออกไทยในปี 2567 มาอยู่ที่ 3.1% (จากเดิม 3.7%) ตามการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกในปีนี้ที่ยังมีแนวโน้มดี แต่ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ จากปัญหาการโจมตีของกบฏฮูตี และความแห้งแล้งของคลองปานามา ปัญหาการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ และมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในระยะสั้นสัญญาณฟื้นตัวของการส่งออกไทยแผ่วลง โดยในเดือน ก.พ. มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทย ขยายตัวได้เพียง 3.6%YOY (เทียบกับเดือน ก.พ. 66) ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในเดือนก่อนที่ 10% อยู่มาก ขณะที่ในเดือนมี.ค. มีแนวโน้มหดตัวแรงจากปัจจัยฐานสูง แม้ภาคการผลิตและการค้าโลกจะอยู่ในทิศทางการฟื้นตัว เนื่องจากมีการส่งออกทองคำในเดือน มี.ค. 66 มากถึง 1,568.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติมาก

 

SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกไทยจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในปีนี้ มาจากแรงสนับสนุนหลายด้าน ได้แก่

1. ปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวใกล้เคียงปีที่แล้ว

2. ภาคการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ จะกลับมามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้นในปีนี้ เห็นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตโลกในเดือน ก.พ.ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 ซึ่งเกินระดับ 50 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน นอกจากนี้ ดัชนี PMI ยอดคำสั่งซื้อใหม่ (Export order) และดัชนี PMI ปริมาณผลผลิตในอนาคต (Future output) เริ่มขยายตัวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในระยะข้างหน้า

3. ราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มสูง เช่น ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลงจากภัยแล้ง และนโยบายควบคุมการส่งออกสินค้าในบางประเทศ

 

  • สินค้าในโลกเปลี่ยนไปในระยะยาว

ทั้งนี้ แม้ภาคการผลิตโลกจะฟื้นตัวจากช่วงโควิดแล้ว แต่ภาคการผลิตไทยที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก ยังไม่ฟื้นกลับไปเท่าระดับก่อนโควิด สะท้อนจาก

1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2566 ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2560 – 2552

2) การผลิตเกือบทุกอุตสาหกรรม (เกือบ 80% ของมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด) ยกเว้นอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และอิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่ฟื้นตัว

3) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตไทยมีแนวโน้มปรับแย่ลง ต่างจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลกที่ปรับดีขึ้น

สาเหตุหลักเพราะการส่งออกสินค้าของไทย ยังไม่สามารถปรับตัวตอบสนองรูปแบบความต้องการสินค้าในโลก และห่วงโซ่อุปทานโลกที่เปลี่ยนไปได้ดีนัก สะท้อนจากดัชนีความสามารถในการปรับตัวต่ออุปสงค์โลก (Adaptation effect index) ต่อการเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการครองตลาดโลก (Relative change of world market share) ที่จัดทำโดย International Trade Centre พบว่าดัชนีของไทยยังติดลบในหลายอุตสาหกรรมสำคัญ โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์

SCB EIC มองว่า รูปแบบความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไป เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศักยภาพการส่งออกไทยอยู่ในระดับต่ำเทียบกับศักยภาพของประเทศในภูมิภาค สะท้อนจากข้อมูล Export potential หรือมูลค่าศักยภาพการส่งออกของไทยใน 5 ปีข้างหน้า จัดทำโดย International Trade Centre ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

นอกจากนั้น หากพิจารณารายอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมไทยที่ส่งออกได้ต่ำกว่าศักยภาพมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องจักรกลไฟฟ้า, สินค้ายานยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง ดังนั้น ภาคการผลิตไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบความต้องการที่เปลี่ยนไป เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลก

 

KTB มองส่งออกไทยฟื้นไม่ทั่วถึง

ขณะที่ Krungthai COMPASS ประเมินว่า การส่งออกของไทยที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ทั่วถึง จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการส่งออกในปี 2567 ให้ขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.8%

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6% (YoY) ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 10.0% (YoY) และหากพิจารณาการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ จะขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น เนื่องจากการส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ยังฟื้นตัวได้ช้า และมูลค่าส่งออกของสินค้าสำคัญยังหดตัวต่อเนื่อง เช่น ยานพาหนะ น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น

นอกจากนี้ การส่งออกไปยังจีน และอาเซียน-5 กลับมาหดตัว ขณะที่ตลาดหลักสำคัญ โดยเฉพาะยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน มี.ค. 67 (Flash Manufacturing PMI) ซึ่งหดตัวที่ระดับ 45.7 และ 48.2 สะท้อนถึงอุปสงค์ของสินค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

วานนี้ (26 มี.ค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกของไทยเดือน ก.พ. ขยายตัว 3.6% (YoY) เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 แต่ชะลอลงจากระดับ 10% ในเดือนม.ค. โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาหดตัว ขณะที่สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง

ด้านการนำเข้า ขยายตัว 3.2% (YoY) โดยสินค้าที่การนำเข้าขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนการนำเข้าสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และสินค้าเชื้อเพลิง ส่งผลให้ในเดือนก.พ. ขาดดุลการค้า 554 ล้านดอลลาร์ฯ ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ของปีนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top