In Focus: ประมวลเหตุสลดในบัลติมอร์ แค่เรือชน ทำสะพานถล่มได้อย่างไร?

**เกิดอะไรขึ้นที่บัลติมอร์?**

ช่วงกลางดึกของวันที่ 26 มี.ค. 2567 เมื่อเวลาประมาณ 01:30 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุสลดครั้งใหญ่ในเมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐ เมื่อเรือขนส่งสินค้าชื่อดาลี (Dali) เกิดระบบไฟฟ้าบนเรือขัดข้องขณะแล่นออกจากท่าเรือบัลติมอร์ ทำให้ไฟบนเรือดับทั้งหมด จากนั้น เรือลำดังกล่าวได้พุ่งชนเข้ากับเสาตอม่อของสะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ (Francis Scott Key Bridge) ส่งผลให้บางส่วนของสะพานความยาว 2.6 กิโลเมตร ถล่มลงสู่แม่น้ำปาแทปสโก (Patapsco)

ในขณะเกิดเหตุ ทีมคนงานก่อสร้างที่กำลังซ่อมแซมหลุมบ่อบนผิวถนนของสะพานทั้ง 8 คน ร่วงหล่นจากสะพานที่มีความสูง 56 เมตร ลงไปในแม่น้ำที่มีอุณหภูมิ 8 องศาเซลเซียส เจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยชีวิต 2 รายออกมาได้ โดยหนึ่งในนั้นอาการสาหัสและถูกนำส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ส่วนอีก 6 รายหายสาบสูญและสันนิษฐานว่าน่าจะเสียชีวิตแล้ว

นายเควิน คาร์ทไรท์ โฆษกสำนักงานดับเพลิงบัลติมอร์เปิดเผยว่า มีรถยนต์อีกหลายคันและอาจมีรถบรรทุกเทรลเลอร์จมในแม่น้ำด้วย

วิดีโอที่ถ่ายทอดสดบน YouTube เผยให้เห็นภาพเรือขนส่งพุ่งชนสะพานในความมืด ไฟหน้ารถหลายคันที่กำลังวิ่งบนสะพานสาดส่องลงไปในแม่น้ำปาแทปสโก ขณะที่ตัวสะพานถล่มลงและเกิดไฟไหม้บนตัวเรือ

นายเวส มัวร์ ผู้ว่าการรัฐแมริแลนด์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สามารถช่วยชีวิตประชาชนบางส่วนได้ทันท่วงทีหลังจากที่เรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (mayday) ทำให้ทางการรัฐแมริแลนด์สามารถหยุดการจราจรบนสะพานไว้ได้

นอกจากนี้ เรือขนส่งสินค้ายังได้หย่อนสมอลงเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงการชนอีกด้วย

บริษัทซีเนอร์จี มารีน กรุ๊ป (Synergy Marine Group) ผู้บริหารจัดการเรือลำนี้ออกแถลงการณ์ว่า ลูกเรือทั้งหมด 22 คน รวมถึงเจ้าพนักงานนำร่อง 2 คนที่อยู่บนเรือปลอดภัยดี และไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ

เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งว่ายังไม่มีหลักฐานว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ส่วนทางการได้ยุติปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตหลังเกิดเหตุไปได้ประมาณ 18 ชั่วโมง

 

**แค่เรือชน สะพานพังทั้งแถบได้อย่างไร?**

อันดับแรก เรือลำดังกล่าวมีขนาดใหญ่มาก ตามข้อมูลของ LSEG เรือสินค้าดาลีมีความยาว 289 เมตร ซึ่งเปรียบได้กับสนามฟุตบอล 3 สนามต่อกัน โดยสามารถบรรทุกสินค้าได้ถึง 10,000 TEU (twenty-foot equivalent unit) ซึ่งเป็นหน่วยวัดความจุของเรือขนส่งสินค้า โดยบรรทุกมาเป็นจำนวน 4,679 TEU ในขณะเกิดเหตุ เรือชนเข้ากับเสาตอม่อคอนกรีตหลักที่ฝังอยู่ใต้พื้นน้ำและเป็นส่วนหนึ่งของฐานรากของสะพาน

ปัจจัยต่อมา วิศวกรชี้ว่าสะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ เป็นสะพานโครงถักโลหะ (metal truss-style bridge) ที่มีพื้นสะพานแขวนอยู่ด้านล่าง ซึ่งดีไซน์แบบนี้ส่งผลให้สะพานถล่มทั้งแนวเมื่อเรือขนาดยักษ์พุ่งชน

มารินา บ็อค อาจารย์สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง มหาวิทยาลัยแอสตัน ประเทศอังกฤษอธิบายว่า “สะพานประเภทนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้กระจายน้ำหนักหากเสาตอม่อหลักเกิดความเสียหาย ดังที่เห็นจากวิดีโอว่าสะพานมีการพังทลายตามลำดับ”

ด้านผู้ว่าการรัฐแมริแลนด์เปิดเผยว่า สะพานแห่งนี้ปลอดภัยตามมาตรฐานและไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างมาก่อน

จากรายงานของหน่วยงานคมนาคมแมริแลนด์ระบุว่า มีโครงการจะเปลี่ยนพื้นผิวสะพาน และติดตั้ง “ระบบป้องกันเสาตอม่อหลักในน้ำด้วยวัสดุไฟเบอร์กลาส” ซึ่งมีกำหนดเริ่มในช่วงฤดูร้อนปี 2568

 

**เรือบริษัทอะไรชน? มีบทลงโทษอะไรบ้าง?**

เรือลำดังกล่าวเป็นเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์ชื่อดาลี โดยตามข้อมูลของ LSEG เจ้าของเรือที่จดทะเบียนสัญชาติสิงคโปร์คือบริษัท เกรซ โอเชียน จำกัด (Grace Ocean Pte Ltd)

ด้านเมอส์ก (Maersk) ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือรายใหญ่สัญชาติเดนมาร์ก ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า เรือดาลีเป็นเรือสินค้าที่บริษัทเช่าเหมาลำจากบริษัทซีเนอร์จี มารีน กรุ๊ป ซึ่งขนส่งคาร์โกสินค้าจากลูกค้าของเมอส์ก

“ไม่มีลูกเรือและบุคลากรของเมอส์กอยู่บนเรือขณะเกิดเหตุ เรากำลังติดตามการสอบสวนของทางการอย่างใกล้ชิด และเราจะทำทุกอย่างเพื่อแจ้งความคืบหน้าแก่ลูกค้า” แถลงการณ์ระบุ

จากประวัติพบว่าเรือลำนี้เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุที่ท่าเรือแอนต์เวิร์ป (Antwerp) ประเทศเบลเยียม เมื่อปี 2559 โดยได้ชนเข้ากับท่าเรือขณะกำลังจะออกจากท่าเรือคอนเทนเนอร์นอร์ทซี (North Sea)

จากข้อมูลการตรวจสอบสภาพเรือที่ท่าเรือแอนต์เวิร์ปในปี 2559 พบว่าเรือลำนี้มีปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยมีการระบุไว้ว่า “ความเสียหายของตัวเรืออาจส่งผลกระทบต่อความสามารถเดินทะเลปลอดภัย (seaworthiness)”

ต่อมา การตรวจสอบสภาพเรือในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ซานอันโตนิโอ ประเทศชิลี พบข้อบกพร่องใน “เครื่องยนต์ขับเคลื่อนและเครื่องจักรเสริม” ของเรือดาลี ตามข้อมูลบนเว็บไซต์ Equasis ซึ่งเป็นแหล่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรือ

ด้านโฆษกของท่าเรือแอนต์เวิร์ปเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า “โดยทั่วไป อุบัติเหตุเหล่านี้จะได้รับการสอบสวนและเรือจะได้รับอนุญาตให้ออกจากท่าก็ต่อเมื่อผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยแล้วเท่านั้น”

ในส่วนของบทลงโทษนั้นยังไม่มีการระบุแน่ชัด โดยนางเจนนิเฟอร์ โฮเมนดี ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติของสหรัฐ (NTSB) ระบุว่า ทีมสืบสวนจำนวน 24 ราย ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ๆ ได้ลงพื้นที่แล้ว แต่ยังงดการเข้าตรวจสอบตัวเรือในระหว่างที่มีปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย นอกจากนี้เธอยังระบุว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านความปลอดภัยของสิงคโปร์จะเดินทางถึงบัลติมอร์ในวันพุธนี้ (27 มี.ค.)

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ให้คำมั่นว่ารัฐบาลกลางจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสร้างสะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ในบัลติมอร์ขึ้นใหม่

“ผมตั้งใจให้รัฐบาลกลางออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการสร้างสะพานขึ้นมาใหม่ และผมหวังว่าสภาคองเกรสจะสนับสนุนความพยายามนี้” ปธน.ไบเดนแถลงต่อสื่อมวลชน ณ ทำเนียบขาว

ปธน.ไบเดน ถูกตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลกลางถึงรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสร้างสะพานขึ้นใหม่ ในเมื่อเรือและผู้ควบคุมเรือควรเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งปธน.ไบเดน ตอบว่า “ก็ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่เรารอไม่ได้ เราจะจ่ายเงินเพื่อสร้างสะพานขึ้นใหม่และเปิดใช้งานโดยเร็ว”

 

**เหตุการณ์สะพานถล่มครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?**

นอกจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตของคนงานก่อสร้างบนสะพานแล้ว เหตุการณ์สะพานถล่มในครั้งนี้ส่งผลท่าเรือบัลติมอร์ประกาศปิดดำเนินการจนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบต่อไป อีกทั้งยังทำให้การขนส่งทางเรือที่ท่าเรือแห่งนี้ถูกระงับ โดยท่าเรือบัลติมอร์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของสหรัฐ และเป็นหนึ่งในท่าเรือสำหรับการส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์

ในปี 2566 ท่าเรือบัลติมอร์ให้บริการขนส่งรถยนต์และรถบรรทุกเล็กกว่า 874,000 คัน ซึ่งสูงกว่าท่าเรือแห่งอื่น ๆ ในสหรัฐ

นายโจเซฟ บรูซูลาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทอาร์เอสเอ็ม (RSM) กล่าวว่า “บริษัทรถยนต์หลายแห่งเช่นบีเอ็มดับเบิลยู และโฟล์คสวาเกน อาจจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เมื่อพิจารณาจากการที่บริษัทเหล่านี้พึ่งพาการขนส่งที่ท่าเรือบัลติมอร์เป็นอย่างมาก โดยผู้บริโภคที่ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่อาจจะกังวลเรื่องปัญหาขาดแคลนชั่วคราว ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคเหล่านี้อาจจะต้องรอคอยเพิ่มขึ้นอีกหลายสัปดาห์จึงจะสามารถซื้อรถยนต์รุ่นที่ต้องการได้ ส่วนบริษัทค้าปลีก เช่นอันเดอร์ อาร์เมอร์, โฮม ดีโปท์, อิเกีย และเฟดเอ็กซ์ อาจจะได้รับผลกระทบในระยะใกล้นี้”

“ท่าเรือบัลติมอร์อาจดูไม่ค่อยน่าสนใจในสายตาของชาวอเมริกันส่วนใหญ่เมื่อพิจารณาจากทำเลที่ตั้ง และดูไม่สวยงามเหมือนกับท่าเรือแอลเอ แต่ท่าเรือบัลติมอร์มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ” นายบรูซูลาสกล่าว

นอกจากรถยนต์แล้ว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ถ่านหินปริมาณมากถึง 2.5 ล้านตัน ตลอดจนไม้แปรรูปและยิปซัม เสี่ยงเผชิญกับการหยุดชะงักด้านห่วงโซ่อุปทานด้วย ขณะที่ท่าเรือต่าง ๆ ในรัฐนิวเจอร์ซีย์และเวอร์จิเนียอาจมีการสัญจรหนาแน่นมากขึ้น เพราะต้องรับเรือขนส่งต่าง ๆ ที่ถูกบีบมาจากเมืองบัลติมอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐ

อย่างไรก็ดี นายบรูซูลาสคาดว่า เหตุการณ์สะพานถล่มในบัลติมอร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับที่นายมาร์ค แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของมูดี้ส์กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจะไม่มากนัก

“เราคาดว่าเหตุการณ์นี้จะไม่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เพียงแต่จะต้องใช้เวลาในการรอคอยให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ” นายแซนดีกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 67)

Tags: , , , , , ,
Back to Top