ผู้ประกอบทีวีดิจิทัลตบเท้าพบประธาน กสทช.ขอยืดเวลายึดคืนคลื่น 3500 MHz

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. และ พล.ต.อ. ดร. ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ร่วมรับฟังความคิดเห็นโดยตรงจากผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดทิศทางสำหรับการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz

นพ.สรณ กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงาน กสทช. อยู่ระหว่างศึกษาโอกาส และความเป็นไปได้ในการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ซึ่งจะพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า การกำหนดนโยบายจะพยายามฟังรอบด้าน เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดหรือไม่กระทบเลย อย่างไรก็ดี นอกจากธุรกิจทีวีดิจิทัลแล้ว ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังดู satellite TV และยังมีประเด็นเรื่องอัตลักษณ์แห่งชาติ (National Identity) และความสำคัญด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคุณูปการที่ทีวีดิจิทัลได้สร้างสรรค์แก่ประเทศไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้การดำเนินการใด ๆ จะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย

สำหรับเรื่องนี้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา อาจนำมาใช้ได้ในหลายกรณี อาทิ Private 5G รวมถึงขยาย Bandwidth สำหรับการใช้งาน 5G ในประเทศ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ในการนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวมาใช้ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งหน่วยงาน GSMA ภูมิภาค Asia-Pacific (APAC) ก็เคยแสดงข้อกังวลในประเด็นนี้ นอกจากนี้ อาจต้องพิจารณาความต้องการของตลาด ความพร้อมของอุตสาหกรรมที่จะนำคลื่นย่านนี้มาใช้ ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ รวมถึงความพร้อมของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่านนี้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล นำโดยนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) พร้อมด้วยผู้บริหารจากช่อง Thairath TV, Amarin TV, GMM, One31 และ GMM25 ได้ขอเข้าหารือประธาน กสทช. และ กสทช. โดยได้แสดงความกังวลว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz สำหรับกิจการโทรคมนาคมจะส่งผลให้ทีวีดิจิทัลไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อีก

เนื่องจากในปัจจุบันทีวีดิจิทัลยังคงพึ่งพาดาวเทียม C-band ซึ่งอาศัยย่านความถี่ดังกล่าวในการแพร่ภาพ โดยดาวเทียม C-band ถือเป็นช่องทางหลักที่ทีวีดิจิทัลใช้ในการออกอากาศ ขณะที่ช่องทางอื่น ๆ ในการออกอากาศทีวีดิจิทัล มีผู้รับชมลดลงอย่างต่อเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการขยายตัวของการรับชม content ผ่านช่องทาง OTT และปัจจัยอื่น ๆ การคงคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ไว้ใช้สำหรับดาวเทียม C-band จึงเป็นวิถีทางอยู่รอดของผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลที่จะต้องประกอบธุรกิจต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าใบอนุญาตจะสิ้นอายุในอีก 5 ปีข้างหน้า

*เอาคลื่น 3500 MHz ไป ทางรอดยิ่งน้อยลง

นายสุภาพ กล่าวภายหลังการเข้าพบว่า ประธานบอร์ด กสทช. และกสทช. ได้แสดงความเข้าใจและเห็นใจว่าหากนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ กลับคืนไปจะทำให้คนที่ชมทีวีดิจิทัลผ่านการจานดาวเทียมที่มีอยู่ 65% จะไม่สามารถรับชมได้ และมีผลกระทบให็ผู้ชมต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังจะมีผลกระทบทำให้ผู้ชมลดน้อย และกระทบกับรายได้จากกการโฆษณาและเรตติ้งที่จะลดลง

“ประธานและกสทช. เข้าใจแต่จะทำอะไรได้หรือไม่คงต้องอยู่ที่มติของกรรมการทั้งหมดซึ่งจะต้องไปพูดคุยกันครั้งหนึ่ง การเข้าพบวันนี้จึงเป็นการสะท้อนปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้สมาคมฯ ได้เข้าพบ กสทช.อีก4 ท่าน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม โดยได้สะท้อนปัญหาและฝากข้อห่วงใยไว้เช่นเดียวกัน “

ส่วนความเป็นไปได้ในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล หลังครบกำหนดในการประกอบกิจการตามใบอนุญาต กสทช.ทั้งหมดจะต้องหารือกันจนเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน แนวโน้มเรื่องนี้น่าจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย หรือประกาศ กสทช.โดยหากเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว กสทช.คงต้องเป็นเจ้าภาพแล้วเสนอเรื่องไปยังรัฐบาล และคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายอย่างไรเพื่อทำให้ธุรกิจทีสีดิจิทัลที่ทำกันอยู่เดินหน้าต่อไปได้

“คลื่น 3500 MHz เป็นดั่งท่อออกซิเจนที่ทำให้ทีวีดิจิทัลอยู่รอดต่อไปได้ หากไม่มีคลื่นย่านนี้สำหรับ C-band ก็เหมือน กสทช. ถอดปลั๊กเครื่องช่วยหายใจของทีวีดิจิทัล” นายสุภาพ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักดีถึงความจำเป็นทางด้านกฎหมาย และความสำคัญของคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นคลื่นสำหรับ IMT อย่างน้อยที่สุดขอให้ชะลอการนำคลื่นย่านดังกล่าวคืนมาใช้เพื่อกิจการโทรคมนาคม โดยขอให้อย่างน้อยใบอนุญาตประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2572 ก่อน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มี.ค. 67)

Tags: , , , ,
Back to Top