ภายใต้การนำทัพ ของนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) ที่เน้นการทำงานที่เอาจริง Action เร็ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดในตลาดเงิน ตลาดทุน หรือแม้แต่ตลาดคริปโทฯ ก็ตาม
โดยเฉพาะตลาดคริปโทฯ ในประเทศไทยที่ผ่านสถานการณ์ฉาวอย่างกรณี Zipmex ที่ปัจจุบันนักลงทุนยังไม่ได้เงินคืน ไม่สามารถถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มได้ ซ้ำร้ายแพลตฟอร์มยังปิดให้บริการไปแล้ว ขณะที่ตลาด Investment Token ที่มีเริ่มออกมาให้นักลงทุนเป็นทางเลือกก็ยังไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คิด
ปัญหาอยู่ที่ตรงไหน สำนักงาน ก.ล.ต. จะมีแนวทางในการเดินหน้าอย่างไร
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. ระบุว่า Same Risk, Same Regulatory Outcome ปีนี้จะเป็นปีที่เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเรื่องกฎเกณฑ์ เนื่องจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการเปลี่ยนแปลง นำ Investment Token จากเดิมที่อยู่ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล ย้ายมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ เนื่องจากลักษณะของ Investment Token มีความใกล้เคียงกับ “หลักทรัพย์”
การเปลี่ยนแปลงตรงนี้จะทำให้ สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถคุ้มครองผู้ลงทุนให้เทียบเท่าได้กับผู้ที่ลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่อยู่ใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการเปิดโอกาสแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ สามารถประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Investment Token ได้
ตัวสินทรัพย์ดิจิทัล (Investment Token, Utility Token) หรือแม้แต่ Cryptocurrency สิ่งเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกันในด้านของเทคโนโลยี ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในปัจจุบัน ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง (Transition) ทางสำนักงาน ก.ล.ต. มีแนวทางที่ชัดเจนในการปรับแก้ เพื่อให้ประโยขน์และคุ้มครองนักลงทุนได้สูงสุด
ปัจจุบันทาง ก.ล.ต. ได้ออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างครอบคลุมจำนวน 6 ประเภท และยังคงเปิดรับการพิจารณาผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใบอนุญาตผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (DA Custodial Wallet Provider) ที่ประกอบธุรกิจในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน รวมไปถึงใบอนุญาตที่ทำหน้าที่ครอบคลุม Asset Management เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับนักลงทุน
ไม่เพียงแค่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ธุรกิจอะไรก็ตามที่อยู่ภายใต้การกำกับ จำเป็นต้องมาขอใบอนุญาต หากพบเห็นบุคคลหรือผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ (เถื่อน) เช่น การชักชวนให้ลงทุนในวงกว้าง ก.ล.ต. มีความจำเป็นต้องเอาผิด หรือตัดช่องทางต่าง ๆ ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันผ่าน Scam Alert
“การลงทุนมีความเสี่ยง แต่ก็ยังมีผลตอบแทนมาชดเชย แต่การโดนหลอกจากเงินออมที่เก็บมา ถือเป็นความเสี่ยงที่ไม่มี yield เลย”
ในส่วนของ Influencer รายย่อยที่มีการโปรโมทโปรเจกต์ต่าง ๆ ประกาศให้คุณค่า แนะนำ เชิญชวน ประกาศให้ร่วมลงทุนในวงกว้าง หากคุณไม่ได้รับใบอนุญาต Broker ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ก็จำเป็นต้องตรวจสอบ และปฏิบัติตามกระบวนการต่อไป
สินทรัพย์ในปัจจุบันที่มีทั้ง Crypto และ Digital Asset (DA) การจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว นักลงทุนควรมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ “บางคนมองเป็นความเสี่ยง” “บางคนมองเป็นโอกาส” ผู้ประกอบธุรกิจเองควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการให้บริการ และในปีนี้ตลาดคริปโทฯ ไทย จะมี Investment Token ในกลุ่ม Sustainable ที่ถือเป็น Eligibal Asset Class ที่ Thailand ESG Fund สามารถร่วมลงทุนได้ รอติดตาม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 67)
Tags: Crypto Insight, Cryptocurrency, SCOOP, คริปโทเคอร์เรนซี, พรอนงค์ บุษราตระกูล, สินทรัพย์ดิจิทัล