เหล็กไทย-จีนแข่งเดือด คาดปีนี้ราคาในปท.ปรับลง 6% เหตุเหล็กจีนทะลัก

ผู้ผลิตเหล็กไทย เผชิญการแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากจีน คาดปี 67 ราคาเหล็กไทยหดตัวราว 6% แม้ความต้องการใช้ในประเทศจะมีสัญญาณฟื้นช่วงครึ่งปีหลัง แต่การแข่งขันที่สูง ยังกดดันความสามารถในการทำกำไรระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปี 66 ราคาเหล็กไทยหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยราคาเหล็กทรงยาวเฉลี่ยอยู่ที่ 22,434 บาท/ตัน ลดลง 12% และเหล็กทรงแบนเฉลี่ยอยู่ที่ 27,683 บาท/ตัน ลดลง 16% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาเหล็กโลก ที่ปรับลดลงตามความต้องการใช้เหล็กที่หดตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนที่เผชิญปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงปัจจัยภายในของไทย จากการหดตัวของการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ ตามการอนุมัติงบประมาณปี 67 ที่ล่าช้า

ทั้งนี้ คาดว่าราคาเหล็กไทยในปี 67 จะยังปรับลดลงจากปีก่อนราว 6% แต่ยังเป็นระดับราคาที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 โดยราคาเหล็กทรงยาว เฉลี่ยอยู่ที่ 21,000 บาท/ตัน และราคาเหล็กทรงแบน เฉลี่ยอยู่ที่ 26,000 บาท/ตัน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับลดลงของราคาเหล็กไทยในปี 67 มีดังนี้

– ราคาเหล็กโลกยังมีแนวโน้มปรับลดลง ตามการลงทุนก่อสร้างในหลายประเทศยังมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่ออุปสงค์เหล็กโลกให้เติบโตได้จำกัด โดยเฉพาะความต้องการใช้เหล็กของจีนที่ยังมีทิศทางฟื้นตัวช้าจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่คลี่คลาย สอดคล้องไปกับข้อมูลของ The China Metallurgical Industry and Research Institute ที่คาดการณ์ว่าอุปสงค์เหล็กในจีน น่าจะยังหดตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาราว 1.7% สวนทางกับการผลิตเหล็กของจีนที่ยังอยู่ในระดับสูง

– ราคาเหล็กในประเทศถูกกดดันจากการไหลเข้าของเหล็กจีน โดยในปี 66 ไทยนำเข้าเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนอยู่ที่ราว 6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกหลักของจีน คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของปริมาณส่งออกเหล็กทั้งหมด ทำให้หลายประเทศผู้ผลิตเหล็กในอาเซียน เผชิญการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นจากการส่งออกเหล็กของจีน ที่นับเป็นปริมาณการส่งออกสูงสุดในรอบ 7 ปี ขณะที่ไทยเอง ก็ได้รับผลกระทบจากการเริ่มเห็นข่าวปิดกิจการโรงงานเหล็ก ทั้งที่เป็น SMEs หรือแม้กระทั่งรายใหญ่

*ผู้ผลิตไทยแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้าจากจีน

ผู้ผลิตเหล็กไทยแข่งขันลำบากกับเหล็กนำเข้าจากจีนที่ราคาถูกกว่า เนื่องจากไทยต้องพึ่งพิงการนำเข้าเหล็กวัตถุดิบมาผลิต/แปรรูป (คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 60% ของอุปทานเหล็กในประเทศ) ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของไทยสูงกว่าจีนที่ผลิตเหล็กตั้งแต่ต้นน้ำ และมี Economy of scale สะท้อนผ่านราคาเหล็กที่ผลิตในไทยบางรายการสูงกว่าราคาเหล็กนำเข้าจากจีน

ทั้งนี้ ในปี 66 นอกจากผลของราคาเหล็กที่ลดลงแล้ว ผู้ผลิตเหล็กไทยยังเผชิญรายได้ที่หดตัวมากขึ้น ตามยอดขายที่ลดลง ซึ่งบางรายที่แข่งขันไม่ได้ก็จำเป็นต้องลดการผลิต เห็นได้จากอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของไทยยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่บางส่วนที่ประคองตัวได้ มีการปรับกลยุทธ์โดยขยายไลน์การผลิตเพื่อลดต้นทุน หรือหันไปผลิตเหล็กเกรดพิเศษต่างๆ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ไปจนถึงการยกระดับผลิตภัณฑ์สู่เหล็กคาร์บอนต่ำ

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า แม้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะส่งสัญญาณฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ตามการลงทุนก่อสร้างภาครัฐที่กลับมาเดินหน้าได้ แต่ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มได้ยาก จากการแข่งขันสูงกับเหล็กนำเข้า ส่งผลให้การรักษา Margin ของผู้ผลิตเหล็กไทย ยังเผชิญความยากลำบากอย่างต่อเนื่อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 67)

Tags: ,
Back to Top