สว.เฉลิมชัย ฉะ “ดิจิทัลวอลเล็ต” นโยบายไม่ตรงปก เสี่ยงทุจริต-ผิดกม. เตือนอย่าฝืน

นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สว. อภิปรายรัฐบาลในประเด็นการจัดทำนโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะแจกเงินให้กับคนไทยที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปนั้น อาจจะเป็นนโยบายหาเสียงในรูปแบบสัญญาว่าจะให้ ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พ.ศ.2561 นอกจากนี้ ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 ก็ไม่มีการระบุถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตให้ชัดเจนภายใน 15 วัน หลังแถลงนโยบายซึ่งจะเป็นการทำผิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 หรือไม่

อีกทั้งในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ก็ยังมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการจากเดิมที่จะแจกเงินให้กับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มาเป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาท/เดือน และมีเงินฝากในบัญชีธนาคารไม่ถึง 5 แสนบาท และขยายพื้นที่การใช้จ่ายเป็นครอบคลุมทั้งอำเภอจากเดิมแค่การใช้จ่ายในรัศมี 4 กม.จากที่อยู่อาศัยตามทะเบียนบ้าน

นายเฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้ การดำเนินการตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้เงินมาจากไหน และหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ ดังนั้นจึงเหมือนกับเป็นนโยบายหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความรับผิดชอบ ต้องการแค่เพียงให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ซึ่งอาจะเป็นบรรทัดฐานให้พรรคการเมืองต่อไปว่า จะหาเสียงอย่างไรก็ได้ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ เปรียบเหมือนนโยบายที่ไม่ตรงปก

นายเฉลิมชัย จึงขอตั้งเป็นข้อสังเกตต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยร้องเรียน และกล่าวหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใช้ดุลยพินิจต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่าสามารถทำได้ ไม่ผิด มาตรา 73 รวมทั้งการที่ ครม.แถลงนโยบาย โดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของเงินได้ จะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

“มีคนสงสัยเยอะว่าหาเสียงแบบนี้จะผิดหรือไม่ ซึ่ง กกต.บอกไม่ผิด เพราะใช้งบประมาณ และในการแถลงนโยบาย ก็ยังไม่ได้บอกแหล่งที่มาของเงิน ดังนั้นการจะบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงยังตอบไม่ได้ ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ ของ กกต. และครม.โปร่งใส มีบรรทัดฐาน จึงขอให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบไต่สวน 2 เรื่องนี้ โดยขอร้องเรียนกล่าวหา ต่อ ปปช. ด้วยวาจา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 60 วรรค 123 เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ไต่สวน และมีความเห็น เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ” นายเฉลิมชัย กล่าว

พร้อมกันนี้ นายเฉลิมชัย ยังได้หยิบยกข้อสังเกต และข้อเสนอแนะ จากหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา, ป.ป.ช., ธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทุจริตในเชิงนโยบายตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบกับการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันที่หลายหน่วยงานยังมีความเห็นว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นภาวะวิกฤติ หากอ้างอิงตามเงื่อนไขของวิกฤติเศรษฐกิจที่จะต้องเป็นที่ประจักษ์ตามนิยามของธนาคารโลก เพราะประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่ได้มีปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ จนเกิดภาวะล้มละลาย, ปัญหาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศ, วิกฤติหนี้สาธารณะ, จีดีพีติดลบหนัก, วิกฤติเงินคงคลัง, วิกฤติค่าเงินบาท, เงินเฟ้อสูงถึง 40% ขึ้นไป เป็นต้น

ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เห็นได้ชัดเจน มี 4 ครั้ง คือ ครั้งแรกวิกฤติต้มยำกุ้ง ครั้งที่ 2 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ครั้งที่ 3 วิกฤติอุทกภัยใหญ่ และครั้งที่ 4 วิกฤติจากการระบาดของโควิด

“ดังนั้น หากการดำเนินโครงการไม่มีความคุ้มค่าเพียงพอ ก็อาจมองได้ว่ารัฐบาลนี้อาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก แต่อาจประสงค์เพียงแจกเงินให้กับประชาชนเป็นหลักตามที่ได้มีการหาเสียงไว้ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นสัญญาว่าจะให้ ตามที่ได้กล่าวหาด้วยวาจาไว้กับ ป.ป.ช.ไว้แล้ว” นายเฉลิมชัย กล่าว

พร้อมกับทิ้งท้ายไว้ว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเดินหน้าต่อไป หรือหยุดเพียงเท่านี้ ก็ขอให้บอกประชาชนโดยเร็ว จะได้ไม่เสียเวลา เสียอารมณ์ ถ้าหยุดแค่นี้ ก็ให้ออกมาขอโทษประชาชน และเชื่อว่าประชาชนจะยกโทษให้ ดีกว่าจะฝืนทำโครงการต่อไปเสี่ยงกับการผิดกฎหมาย

“ให้ไปสารภาพว่า ตอนหาเสียงไม่ได้คิดให้รอบคอบ คิดถึงแต่คะแนนเสียงอย่างเดียว เลือกตั้งคราวหน้าจะไม่ทำแบบนี้อีก เพราะเลือกตั้งคราวหน้าอีก 3 ปี คนไทยก็ลืมหมดแล้ว ดีกว่าไปเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ติดคุกหัวโต” นายเฉลิมชัย กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top