หลังจากที่เมื่อคืนนี้ (20 มี.ค.) ประชาชนจำนวนมากได้กลิ่นไหม้ และพบมีหมอกควันปกคลุมในหลายพื้นที่ จนโซเซียลแห่ติด #กลิ่นไหม้ จนติดเทรนด์ X (ทวิตเตอร์) อันดับ 4 ว่าพื้นที่กรุงเทพมหานครทำไมได้กลิ่นเหม็นไหม้ มีใครเผาอะไรหรือเปล่า?
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมาชี้แจงสาเหตุของกลิ่นไหม้ที่ประชาชนในหลายพื้นที่ได้กลิ่นแล้วว่า มาจาก 4 สาเหตุด้วยกัน ดังนี้
1. ทิศทางลมวันที่ 20 มี.ค. 67 เป็นทิศตะวันออก ซึ่งต่างจากวันอื่นๆ ช่วงนี้ที่มาจากอ่าวไทย ส่วนจุดเผาในช่วง 24 ชม. ที่ผ่านมาพบที่ปริมณฑลหลายจุด
2. ระยะนี้สภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฤดูร้อน ประกอบกับมีความกดอากาศสูงผ่านทางอีสานมาเมื่อวาน ส่งผลให้ความสูงของชั้นบรรยากาศผสม (Mixing Height) ลดต่ำลง ฝุ่นละอองเกิดการสะสมตัวเพิ่มมากขึ้น
3. ความชื้นในบรรยากาศทำให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ทุติยภูมิ (Secondary PM 2.5) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชนิดที่เกิดจากสารประกอบไนโตรเจนและแอมโมเนียจะเกิดปฏิกิริยาได้ดีในสภาวะที่มีความชื้นสูง
4. รูปแบบฝุ่นทุติยภูมิ (Secondary PM 2.5) เกิดจากก๊าซบางชนิดที่ลอยอยู่ในอากาศ เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำปฏิกิริยากับแสงแดด กลายเป็นฝุ่นลอยอยู่ในอากาศ มักเกิดในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.
ทั้งนี้ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน เช่น การเผาไหม้ถ่านหินหรือน้ำมัน ในโรงไฟฟ้า โรงถลุงโลหะ และโรงกลั่นน้ำมัน ส่วนออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงภายใต้แรงดันอากาศที่สูง ทำให้เกิดการรวมตัวกันของออกชิเจนและไนโตรเจนเป็นไนตริคออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นก๊าซที่ไม่เป็นอันตราย แต่เมื่อขึ้นสู่บรรยากาศ NO จะถูกออกซิไดซ์ เป็นก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งมีสีเหลืองอมน้ำตาล เป็นสารพิษที่ระคายเคืองตา แหล่งกำเนิดหลักของออกไซด์ของไนโตรเจน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต์ การเผาไหม้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ หรือกระบวนการอุตสาหกรรมในโรงงานผลิตปุ๋ยและวัตถุระเบิด
สอดคล้องกับที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เมื่อคืนนี้ (20 มี.ค.) เวลา 23.00 น. ว่า พบ 47 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ หลายจังหวัดในภาคกลางมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง เช่นกัน ทั้งนนทบุรี, ปทุมธานี, นครนายก, สมุทรสาคร, นครปฐม และพระนครศรีอยุธยา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มี.ค. 67)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, กลิ่นไหม้, พรพรหม วิกิตเศรษฐ์, มลพิษทางอากาศ