สถานเอกอัครราชทูตไทยในเฮลซิงกิเผยแพร่ประกาศของกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์เรื่องการตัดสินใจระงับการรับคำร้องขอตรวจลงตรา (Visa) ของคนเก็บเบอร์รี่ป่าในไทยผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก โดยการระงับการรับคำร้องขอตรวจลงตรา (Visa) นี้ใช้บังคับกับผู้สมัครที่เป็นแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าทุกคนที่ยื่นคำร้องขอตรวจลงตราที่สถานทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะครอบคลุมถึงผู้สมัครทั้งจาก ไทย กัมพูชา และพม่า หรืออีกนัยหนึ่งคือจะไม่มีการพิจารณาตรวจลงตราประเภทเชงเก้นให้แก่คนเก็บเบอร์รี่ป่าที่มาจากไทย กัมพูชา และเมียนมาในฤดูเก็บเกี่ยวช่วงหน้าร้อนปี 2567
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยในเฮลซิงกิเปิดเผยคำแปลอย่างไม่เป็นทางการของกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ เนื้อความระบุว่า “กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ตัดสินใจระงับการรับคำร้องขอตรวจลงตราของคนเก็บเบอร์รี่ป่าในไทย
การระงับการรับคำร้องขอตรวจลงตรา (Visa) นี้ใช้บังคับกับผู้สมัครที่เป็นแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าทุกคนที่ยื่นคำร้องขอตรวจลงตราที่สถานทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะครอบคลุมถึงผู้สมัครทั้งจากไทย กัมพูชา และพม่า หรือ อีกนัยหนึ่ง จะไม่มีการพิจารณาตรวจลงตราประเภทเชงเก้นให้แก่คนเก็บเบอร์รี่ป่าที่มาจากไทย กัมพูชา และพม่าในฤดูเก็บเกี่ยวช่วงหน้าร้อนปี 2567
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ได้เพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการพิจารณาตรวจลงตราคนเก็บเบอร์รี่ป่า และหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวปี 2566 ได้มีการประเมินเงื่อนไขการพิจารณาตรวจลงตราประเภทเชงเก้นใหม่อย่างละเอียด เนื่องจากมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2566 และเกี่ยวพันกับการเก็บเกี่ยวผลเบอร์รี่ป่าปี 2566
ที่ผ่านมา การตรวจลงตราสำหรับการเก็บเบอร์รี่ป่าได้รับการพิจารณาอนุมัติบนข้อสันนิษฐานว่า คนเก็บเบอร์รี่ป่าเดินทางเข้าฟินแลนด์โดยมีวัตถุประสงค์เทียบเคียงได้กับการท่องเที่ยว และการเก็บเบอร์รี่ป่าอย่างเสรีภายใต้สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของทุกคน (Everyman’s Right) และสามารถเลือกที่จะขายผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ตนเก็บได้ให้กับผู้ซื้อรายใดก็ได้ อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าแนวปฏิบัติในปัจจุบันของภาคส่วนนี้ขัดแย้งกับสมมติฐานดังกล่าว และกระทรวงการต่างประเทศได้รับทราบว่าโดยทั่วไปแล้วคนเก็บเบอร์รี่ป่ามีสัญญาจ้างงาน
เนื่องจากประเด็นข้อกล่าวหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีเหยื่อหลายร้อยรายเกี่ยวข้อง การพิจารณาคำร้องขอตรวจลงตราจึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงอย่างชัดเจนและร้ายแรงในการแสวงประโยชน์โดยมิชอบและการค้ามนุษย์ ในฐานะที่กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านตรวจลงตรามีอำนาจในการกำหนดแนวทางพิจารณาตรวจลงตรา จึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับกรณีการ แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากคนเก็บเบอร์รี่ป่าของไทย
รัฐบาลฟินแลนด์ประสงค์ที่จะแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวและอย่างครอบคลุมในการเข้าประเทศของคนเก็บเบอร์รี่ป่าในฟินแลนด์ตั้งแต่ฤดูเก็บเกี่ยวปี 2568 เป็นต้นไป ดังนั้น ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2567 คณะทำงาน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงาน และนักวิจัยจาก Pellervo Economic Research (PTT) จะดำเนินการประเมินผลกระทบทางเลือกด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ไปพลางก่อน
สถานทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ ยังคงรับคำร้องและพิจารณาการตรวจลงตราประเภทอื่น ๆ ตามปกติ และจะพิจารณาคำร้องแต่ละรายตามประมวลกฎหมายการตรวจลงตราของ EU”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 มี.ค. 67)
Tags: ฟินแลนด์, สถานทูตไทย, เบอร์รี่ป่า