ภาครัฐเร่งสร้างมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและธุรกิจเอสเอ็มอีไทยด้วยการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายช่องทางการตลาด และการเพิ่มคู่ค้า/พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและต่อยอดธุรกิจให้มีเครือข่ายที่หลากหลาย โดยได้จัดทำโครงการ THAI SME-GP ที่ให้แต้มต่อเพื่อเพิ่มโอกาสเอสเอ็มอีเป็นคู่ค้ากับภาครัฐผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลางให้สามารถเสนอราคาได้สูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปไม่เกิน 10% จากราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการที่ไม่เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งเอสเอ็มอีจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
เนื่องจากปัจจุบันมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการดังกล่าวประมาณ 1.5 แสนราย จากเอสเอ็มอีทั้งหมดประมาณ 3.2 ล้านราย หรือเพียง 4.7% เท่านั้น (31 ม.ค.67) ขณะที่มูลค่าตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (30 ก.ย.66) มีราว 5.5 แสนล้านบาท โดยจังหวัดที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สุพรรณบุรี ภูเก็ต เชียงราย ยะลา กำแพงเพชร สตูล กระบี่ เชียงใหม่ ชุมพร ลำพูน ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนการเข้าร่วมโครงการน้อยกว่าภาคอื่นๆ เฉลี่ย 39% ขณะที่ภาคอื่นๆ เฉลี่ย 45% ขึ้นไป
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับผู้บริหารกรมบุญชีกลางเห็นว่าควรเสริมองค์ความรู้ในเรื่องการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของเอสเอ็มอีให้สามารถผ่านหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผ่านการอบรม สัมมนาต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สภาหอการค้าแห่ง ประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น ซึ่งกรมบัญชีกลางจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อจัดจ้างมาร่วมเป็นวิทยากรเรื่องขั้นตอนและเอกสารที่ต้องใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามระเบียบทางราชการได้อย่างถูกต้อง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ THAI SME-GP พร้อมทั้งศึกษาขั้นตอนและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ในเบื้องต้นผ่านทาง www.dbd.go.th โดยจะมีคลิปวิดีโอสั้นให้ได้เรียนรู้และศึกษากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการเป็นคู่ค้ากับหน่วยงานภาครัฐด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มี.ค. 67)
Tags: SME, กระทรวงพาณิชย์, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม