นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ปี 67 ยังคงมุ่งมั่นชูวิสัยทัศน์ในการเป็น “Digital-led Bank with ASEAN Reach” ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล โดยอาศัยเครือข่ายความแข็งแกร่งในฐานะกลุ่มการเงินชั้นนำระดับภูมิภาคของ CIMB Group เข้ามาช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในประเทศไทยด้วยจุดแข็งของซีไอเอ็มบี ไทย ได้แก่ ASEAN, Digitalization, Wealth ผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อลูกค้ารายย่อย และ Sustainability
ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อปี 67 เติบโต 5% ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ CIMBT คาดการณ์ไว้ที่ 2.3% โดยที่การเติบโตของสินเชื่อในปีนี้จะมาจากกลุ่มสินเชื่อยานยนต์เป็นหลัก โดยเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 ธนาคารได้เปิดตัว “One Auto Platform” บริการสินเชื่อยานยนต์ ครอบคลุมทั้งรถยนต์ และจักรยานยนต์ ผ่านบริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ โดยจะยกระดับความสามารถการแข่งขัน และเพิ่มความหลากหลายผ่านบริการใหม่ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งแบบโอนเล่ม และไม่ต้องโอนเล่ม เป็นต้น ประกอบการ ปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลผ่านช่องทางดิจิทัล ต่อยอดจากปีก่อนที่สามารถปล่อยไปได้กว่า 300 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยหนุนการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ จากกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ หลังจากภาคเอกชนยังเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีธุรกิจข้ามแดนในอาเซียน ธนาคารยังคงโฟกัสตลาดในอาเซียน (ASEAN) เป็นหลัก จากจุดแข็งของเครือข่าย know how ของทีมงานผู้เชี่ยวชาญ และการประสานงานเชื่อมโยงเครือข่ายแบบไร้รอยต่อกับทีมงานประเทศต่างๆ ในเครือข่าย CIMB ทั่วอาเซียน ซึ่งปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อในอาเซียนเติบโต 10% เพื่อให้บริการลูกค้าที่ต้องการให้ธนาคารสนับสนุนการขยายธุรกิจในมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกัมพูชา คู่ขนานไปกับการดูแลธุรกรรมทางการเงินให้แก่ลูกค้าองค์กรและสถาบันการเงินในประเทศ ผ่านสินเชื่อ บริการธุรกรรมจัดการเงิน บัญชีธุรกิจ และบริการชำระเงิน เป็นต้น
นายพอล วอง ชี คิน กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะเน้นไปที่การสร้างเครือข่ายกับกลุ่ม CIMB ในประเทศอินโดนีเซียมากขึ้น เนื่องจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมในอินโดนีเซียเติบโตขึ้นอย่างมาก และมีผู้ประกอบการในไทยสนใจเข้าไปขยายการลงทุนมากขึ้น ทำให้มองเห็นโอกาสในการขยายสินเชื่อในตลาดอาเซียน
ส่วนสินเชื่อ SME ธนาคารมองเห็นถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก จึงได้ทยอยลดสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อ SME ลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งใน 3-4 ปีข้างหน้าคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อ SME จะเหลือต่ำกว่า 1% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2.5% แต่จะหันไปขยายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยให้เพิ่มเป็น 71-72% ภายใน 2-3 ปี จากสิ้นปีก่อนที่ 70% โดยยังคงมาจากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งในปีนี้สินเชื่อรายย่อยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหนุนการเติบโตของสินเชื่อรวม ตั้งเป้าเติบโต 5-10%
ด้านการควบคุมคุณภาพหนี้ในปีนี้ ธนาคารตั้งเป้าควบคุมสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 3.3-3.5% จากสิ้นปีก่อนที่ 3.3% โดยที่การตั้งสำรองฯธนาคารคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.11 พันล้านบาท
ขณะเดียวกันยังมีอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือ Digitalize for Value ที่มุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนและยกระดับการให้บริการในโลกยุคใหม่ ผ่านแอพลิเคชั่น CIMB THAI Digital Banking ที่ส่งผลให้ธุรกรรมเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถขยายฐานบัญชีดิจิตอลเพิ่มเป็น 4 แสนราย ปริมาณธุรกรรมบนแอปที่ทะยานสู่ 90% และธุรกรรมจองซื้อหุ้นกู้และพันธบัตรทั้งตลาดแรกและตลาดรองทะยานเกิน 6.6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ CIMB Thai ยังตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำตลาด และที่หนึ่งในใจลูกค้า Wealth Management ท่ามกลางสภาวะตลาดที่มีความท้าทาย ธนาคารจึงให้ความสำคัญกับการแนะนำลูกค้า เลือกลงทุนให้ถูก “จังหวะ” ผ่านการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ CIMB Thai คัดสรรมาให้ลูกค้า ทั้งหุ้นกู้ในตลาดแรก หุ้นกู้ตลาดรอง หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เงินฝากดอกเบี้ยสูง เงินฝากสกุลต่างประเทศ (FCD) กองทุน ประกัน บริการ Wealth Credit Line (วงเงินพิเศษเพื่อมอบสภาพคล่องให้ลูกค้าที่มีเงินลงทุนกับธนาคาร)
และพร้อมจูงมือลูกค้าไปลงทุน Offshore fund โดยเฉพาะ Alternative Investment มีความน่าสนใจที่ไม่อ้างอิงต่อปัจจัยหลักอย่างทิศทางดอกเบี้ยหรือค่าเงิน แต่อยู่บนสินทรัพย์ที่ไปลงทุน ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจและฐานสมาชิก CIMB Preferred (ลูกค้าที่มีเงินฝากหรือเงินลงทุน 3 ล้านบาทขึ้นไป) ให้เติบโตอีก 12% จากปัจจุบันมีลูกค้า 100,000 ราย
การทำธุรกิจของธนาคารจะขับเคลื่อนบนแกน Sustainability สอดรับกับเป้าหมายกลุ่ม CIMB ที่จะบรรลุ Green, Social Sustainable Impacted Products and Services (GSSIPS) จำนวน 1 แสนล้านริงกิต หรือ 7.7 แสนล้านบาท ในปี 67 โดยปี 66 กลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ได้สนับสนุนสินเชื่อความยั่งยืน จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท และในการทำงานบนวิถีความยั่งยืน ตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 36% พร้อมปลุกกระแสสังคมรวมพลังสร้างความยั่งยืนไปด้วยกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มี.ค. 67)
Tags: CIMBT, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย