ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร OR ที่ระดับ”AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่”

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมคงอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile — SACP) ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับ “aa” เช่นเดิม

ทั้งนี้ อันดับเครดิตของบริษัทได้รับการปรับเพิ่มขึ้น 1 ขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะ เนื่องจากทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูง (Highly Strategic) ของ บมจ.ปตท. (PTT) (อันดับเครดิต “AAA/Stable”)

อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงตำแหน่งผู้นำในตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่นในตลาดค้าปลีกน้ำมัน และการคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงมีสถานะด้านการเงินที่แข็งแกร่งในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทถูกลดทอนจากความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวนและผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลต่ออุตสาหกรรมการค้าปลีกน้ำมัน นอกจากนี้อันดับเครดิตเฉพาะยังสะท้อนถึงความเป็นไปได้ที่ภาระหนี้สินของบริษัทอาจสูงขึ้นจากการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย

This image has an empty alt attribute; its file name is 20240314_Canva_%E0%B8%9B%E0%B8%95%E0%B8%97_%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%81-1024x576.png

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

– เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของกลุ่ม ปตท. สถานะการเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของบริษัทนั้นสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ผสานเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ปตท. อีกทั้งยังมีความสอดคล้องในด้านกลยุทธ์และชื่อเสียงอย่างใกล้ชิดกับ ปตท. ทั้งนี้ บริษัทเป็นแกนนำในด้านธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของกลุ่ม ปตท. โดยปัจจุบัน ปตท. ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนถึง 75% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทแกนนำอื่น ๆ ในกลุ่ม ปตท. ซึ่งบ่งบอกว่าบริษัทมีความสำคัญสูงกับกลุ่ม ปตท.ถึงแม้ว่ากำไรของบริษัทจะมีสัดส่วนที่เล็กเมื่อเทียบกับทั้งกลุ่มก็ตาม

การดำเนินงานของบริษัทผสานเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ของกลุ่ม ปตท. อย่างแน่นแฟ้น โดยบริษัทมีหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. ให้แก่ลูกค้าทั้งในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ โดยประมาณ 70%-80% ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่บริษัทจัดหานั้นมาจากโรงกลั่นในกลุ่ม ปตท. ภายใต้สัญญาระยะยาว นอกจากนี้ ชื่อเสียงของบริษัท และของ ปตท. มีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดจากการใช้แบรนด์สินค้า “ปตท.” หรือ “PTT” ร่วมกัน

นอกจากนี้ กลยุทธ์ของบริษัทก็มีความสอดคล้องกับพันธกิจของ ปตท. ในการสนับสนุนความมั่นคงmงด้านพลังงานของประเทศ ตลอดจนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานแห่งอนาคต และการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอีกด้วย ในขณะที่นโยบายทางการเงินของบริษัทก็สอดคล้องกับนโยบายของ ปตท. ด้วยเช่นกัน เมื่อพิจารณาจากความเชื่อมโยงเหล่านี้ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ ปตท. จะให้การช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่บริษัทในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

– เป็นผู้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทได้รับแรงหนุนจากตำแหน่งผู้นำในตลาดน้ำมันในประเทศ โดยบริษัทยังคงเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันรายใหญ่อันดับ 1 ทั้งในตลาดค้าปลีกน้ำมันและตลาดพาณิชย์สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมส่วนใหญ่มาหลาย 10 ปีทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดตามยอดขายอยู่ที่ระดับ 42%

ทริสเรทติ้งมองว่าแบรนด์”ปตท.” ที่แข็งแกร่ง ตลอดจนขนาดของธุรกิจและความสามารถในการจัดหาสินค้าในระดับสูง เครือข่ายสถานีบริการ และช่องทางการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่งจะยังเป็นความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญที่จะช่วยให้บริษัทรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดเอาไว้ได้การที่บริษัทมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ครอบคลุม รวมทั้งมีความสมดุลระหว่างสัดส่วนการจำหน่ายในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ก็ช่วยให้บริษัทสามารถเข้าถึง
อุปสงค์สินค้าจากตลาดหลากหลายกลุ่มซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตและเสถียรภาพของยอดขายได้อีกด้วย

ในปี 2566 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 7.69 แสนล้านบาท ซึ่งมาจาก 3 ธุรกิจหลักประกอบด้วย ธุรกิจ Mobility (ธุรกิจค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศไทย) ธุรกิจ Lifestyle (ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันในประเทศไทย) และธุรกิจ Global (ธุรกิจค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และไม่ใช่น้ำมันนอกประเทศไทย) ทั้งนี้ รายได้หลักของบริษัทมาจากธุรกิจ Mobility ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 90.8% ในแง่ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) นั้น ธุรกิจ Mobility มีสัดส่วนประมาณ 68.1% ตามด้วยธุรกิจ Lifestyle ที่สัดส่วน 26.8% และส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจ Global และธุรกิจอื่น ๆ

– ความสามารถในการแข็งขันที่โดดเด่นผ่านโมเดลธุรกิจแบบบูรณาการ ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของบริษัทได้รับประโยชน์จากรูปแบบธุรกิจแบบบูรณาการที่ผสมผสานการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงกับสองธุรกิจแฟรนไชน์ชั้นนำได้แก่ “ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน” และ “ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven” โดยร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนนั้นเป็นร้านกาแฟอันดับ 1 ในประเทศไทย และถือเป็นแกนหลักที่สำคัญของกลุ่มธุรกิจ Lifestyle โดยความสามารถในการแข่งขันของร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน มาจากแบรนด์สินค้าที่เป็นที่รู้จัก คุณภาพของสินค้าที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้ และจำนวนสาขาที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ในขณะที่ร้าน 7-Eleven เป็นร้านสะดวกซื้อยอดนิยมที่มีสินค้าและบริการที่หลากหลาย โดยบริษัทมีความร่วมมือทางธุรกิจระยะยาวกับ 7-Eleven ทำให้มีร้าน 7-Eleven ให้บริการอยู่ในสถานีบริการเกือบทุกแห่งของบริษัท ทั้งนี้ ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนและร้าน 7-Eleven ซึ่งมีที่ตั้งเฉพาะในสถานีน้ำมัน ปตท. ถือเป็นแม่เหล็กที่สำคัญ ซึ่งช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้าสู่สถานีบริการจนส่งผลให้บริษัทมียอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงและรายได้ต่อสถานีสูงกว่าคู่แข่งอีกด้วย

– กลยุทธ์การขยายผ่าน DODO ช่วยสนับสนุนการเติบโตของสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ด้วยแบรนด์ “PTT Station” ที่แข็งแกร่ง บริษัทจึงสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านรูปแบบสถานีของตัวแทนจำหน่าย หรือ DODO (Dealer Owned Dealer Operated) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้บริษัทขยายตัวสถานีแห่งใหม่โดยใช้เงินทุนที่ต่ำ เนื่องจากรูปแบบธุรกิจดังกล่าวทำให้บริษัทสามารถสร้างสถานีบริการใหม่ ๆ ด้วยเงินลงทุนของตัวแทนจำหน่าย โดยบริษัทจะแบ่งปันกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันกับตัวแทนจำหน่าย ด้วยรูปแบบดังกล่าว บริษัทจึงยังคงรักษาสถานะการเป็นผู้ค้าน้ำมันที่มีสถานีบริการน้ำมันมากที่สุด โดยมีจำนวนการเปิดสถานีแห่งใหม่ประมาณปีละ 80-140 แห่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2566 บริษัทมีสถานีบริการน้ำมัน ปตท. จำนวน 2,253 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประมาณ 80% เป็นสถานีบริการในรูปแบบ DODO

– มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาน้ำมันและผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีความอ่อนไหวจากราคาน้ำมันที่ผันผวนเนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ของบริษัทยังคงขับเคลื่อนโดยธุรกิจ Mobility จากการที่บริษัทมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และเป็นผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของประเทศที่มีคลังน้ำมันครอบคลุมทั่วประเทศจำนวน 54 แห่ง บริษัทจึงจำเป็นต้องสำรองน้ำมันที่มากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่จะให้มั่นใจว่ามีปริมาณน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะผันผวนจากราคาน้ำมันที่ลดลงมากกว่าบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

นอกจากนี้ นโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับราคาขายปลีกน้ำมันก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการค้าปลีกน้ำมันและราคาจำหน่ายในตลาดขายปลีกของบริษัทด้วยเช่นกัน จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลผ่านมาตรการต่าง ๆซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ยังสร้างแรงกดดันเป็นระยะ ๆ ต่อค่าการตลาดของผู้ค้าปลีกน้ำมันต่างๆ

– ยังคงมุ่งเน้นการเติบโตของ EBITDA ในธุรกิจ Lifestyle กลยุทธ์หลักของบริษัทจะยังคงให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจ Lifestyle โดยมีร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนยังคงมีศักยภาพในการเติบโตที่ดีโดยเห็นได้จากการขยายสาขาที่ยังคงรวดเร็ว และยอดขายที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอนในประเทศไทยมียอดขายทั้งหมด 371 ล้านแก้วในปี 2566 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 8.8% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ จำนวนสาขามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 4,159 แห่ง ทั้งนี้ บริษัทมีการเปิดสาขาใหม่ประมาณ 300-450 สาขาต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และในปี 2567 บริษัทวางแผนจะเปิดร้านกาแฟใหม่ประมาณ 300 สาขา โดย 2 ใน 3 ของสาขาที่เปิดใหม่นั้นจะเป็นสาขาที่เปิดนอกสถานีบริการน้ำมัน

นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าการลงทุนในธุรกิจ Lifestyle ของบริษัทจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทจะเน้นสร้างพันธมิตรกับผู้ค้าปลีกหรือบริษัทอื่น ๆ เพื่อสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ๆ โดยธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เข้าลงทุน ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม บริการเครื่องซักผ้า แพลตฟอร์มการจองบริการด้านสุขภาพและความงาม และการบริการด้านขนส่ง นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าขอบเขตธุรกิจจะขยายมากยิ่งขึ้น จากแผนในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดที่ไม่เคยเข้าถึงมาก่อน เช่น ตลาดด้านความงาม ธุรกิจโรงแรม และธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) เป็นต้น

แม้ว่าทริสเรทติ้งจะมองว่าพอร์ตการลงทุนในธุรกิจ Lifestyle ที่หลากหลายนั้นจะมีส่วนช่วยเพิ่มเสถียรภาพของกำไรโดยรวม แต่ความสำเร็จของการลงทุนใหม่เหล่านี้นั้นยังคงมีความไม่แน่นอน ในขณะที่การเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจใหม่กับแพลตฟอร์มของบริษัท อย่างมีประสิทธิผลยังคงเป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญ นอกจากนี้ บริษัทยังคงเผชิญต่อความเสี่ยงจากการดำเนินงานในธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากสภาวะแวดล้อมในการแข่งขันที่ไม่คุ้นเคย พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการพึ่งพาพันธมิตรอย่างมากในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว

– คาดว่า EBITDA จะปรับตัวเพิ่มขึ้น EBITDA ของบริษัทในปี 2566 มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากการฟื้นตัวของปริมาณการขายน้ำมัน และผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นของธุรกิจ Lifestyle โดยปริมาณจำหน่ายน้ำมันในประเทศของบริษัทเพิ่มขึ้นประมาณ 3% มาอยู่ที่ 27,642 ล้านลิตร ซึ่งเป็นระดับที่เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ทั้งนี้ EBITDA ของบริษัทอยู่ที่ 2.22 หมื่นล้านบาทในปี 2566 เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ 2.9% ซึ่งยังคงสอดคล้องกับระดับกำไรในอดีต

มองไปข้างหน้า ในระหว่างปี 2567-2569 ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณจำหน่ายน้ำมันในประเทศของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2%-3% ต่อปี ภายใต้สมมติฐานในการเปิดสถานีบริการน้ำมันแห่งใหม่ประมาณ 90-100 แห่งต่อปี ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันต่อสถานีโดยเฉลี่ยมีความเป็นไปได้ที่จะลดลง

ซึ่งสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นและศักยภาพของพื้นที่ใหม่ที่ด้อยลงกว่าเดิม ทั้งนี้ EBITDA ของธุรกิจ Lifestyle มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน นอกจากนี้ ในประมาณการกรณีฐานของทริสเรทติ้ง คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันโลกจะลดลงในช่วง 3 ปีข้างหน้ารายได้ต่อปีของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 7.2-7.6 แสนล้านบาทตลอดระยะเวลาประมาณการ โดย EBITDA คาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.2-2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี

– ยังคงมีสถานะด้านการเงินที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทจะรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ณ สิ้น เดือนธันวาคม 2566 บริษัทถือเงินสดจำนวนมาก เนื่องจากได้รับเงินชดเชยคืนขนาดใหญ่จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่การลงทุนเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้นช้ากว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ รายการเทียบเท่าเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่กำลังจะเข้ามา คาดว่าจะเพียงพอที่จะรองรับการลงทุนหรือการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ของบริษัทจะยังคงต่ำกว่า 1 เท่าในช่วงระหว่างปี 2567-2569

– มีสภาพคล่องเพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินแหล่งเงินทุนของบริษัทจะเพียงพอสำหรับการใช้เงินทุนที่จะเกิดขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนมีมูลค่ารวม 7.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยรายการเทียบเท่าเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท ณ เดือนสิ้นเดือนธันวาคม 2566 และเงินทุนจากการดำเนินงานที่ประมาณ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ด้วยเงินจำนวนนี้ทำให้บริษัทสามารถรองรับหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระรวมจำนวน 1 หมื่นล้านบาท แผนการใช้จ่ายและการลงทุนต่าง ๆ จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท และการจ่ายเงินปันผลประมาณ 6 พันล้านบาทได้

โครงสร้างหนี้สิน

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566 ภาระหนี้สินรวมของบริษัท (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) มีจำนวน 2.51 หมื่นล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนทั้งสิ้น 4.0 พันล้านบาทซึ่งทำให้สัดส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อภาระหนี้รวมอยู่ที่ระดับ 16% สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานหลักที่ใช้ในการทำประมาณการในกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งระหว่างปี 2567-2569 มีดังนี้

– ราคาน้ำมันดิบดูไบจะปรับลดลงเป็น 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2567 และเป็น 70 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2569

– ยอดขายน้ำมันในประเทศจะเติบโตที่ระดับ 2%-3%

– กำไรขั้นต้นโดยรวมจะอยู่ที่ 0.9-1.0 บาทต่อลิตร

– ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนและเงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ 4.68 หมื่นล้านบาท

– อัตราการจ่ายเงินปันผลจะอยู่ที่ระดับ 55% ของผลกำไรสุทธิ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศ และยังคงรักษากระแสเงินสดที่แข็งแกร่งไว้ได้ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าบริษัทจะขยายธุรกิจด้วยการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่

ทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนกระแสเงินสดต่อภาระหนี้สินให้สอดคล้องกับที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์เอาไว้นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่า
บริษัทจะยังคงเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระดับสูงของ ปตท. ต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทอาจจะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และราคาน้ำมันในระดับที่มากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นผลมาจากรายได้และผลกำไรที่เพิ่มมากขึ้นจากธุรกิจ Lifestyle และจากการลงทุนใหม่ ๆ ในทางตรงกันข้าม ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทลงได้

หากผลการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้เป็นอย่างมาก หรือบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้จำนวนมากจนส่งผลทำให้สถานะด้านการเงิน
ของบริษัทด้อยลงอย่างมาก

นอกจากนี้ ตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” ของทริสเรทติ้ง สถานะความน่าเชื่อถือของ ปตท. ที่อ่อนด้อยลง หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทและ ปตท. อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ด้วยเช่นกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top