ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสรถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นที่นิยมอย่างมาก และสร้างแนวโน้มในแง่ดีในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ต่างคาดการณ์ในแง่บวกเกี่ยวกับยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า และตั้งเป้าหมายอย่างทะเยอทะยานในการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะที่บรรดานักลงทุนก็มีความกระตือรือร้นในการผลักดันมูลค่าทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิม และบริษัทสตาร์ตอัปที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีอนาคตไกล
อย่างไรก็ตาม ความตื่นเต้นเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเริ่มจางหายไป โดยสำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ค่ายรถยนต์หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) เจนเนอรัล มอเตอร์ส (General Motors) เมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) โฟล์คสวาเกน (Volkswagen) จากัวร์ (Jaguar) แลนด์ โรเวอร์ (Land Rover) ไปจนถึงแอสตัน มาร์ติน (Aston Martin) กำลังปรับลดขนาด หรือชะลอแผนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตน
แม้แต่เทสลา (Tesla) บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าระดับแถวหน้าของสหรัฐ ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดถึง 55% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศในปี 2566 ยังปรับลดการคาดการณ์การเติบโต โดยนายอีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลากล่าวว่า กำลังเตรียมรับมือกับอัตราการเติบโตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายกลับมาผลักดันการขายรถยนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเบนซิน รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม บริษัทรถยนต์ยังคงเชื่อในอนาคตที่มีการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด แม้จะเล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกก็ตาม
“สิ่งที่เราเห็นในปี 2564 และ 2565 คืออุปสงค์รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ชั่วคราว” นายมาริน ยาจา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการประจำธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของฟอร์ด กล่าวในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซี พร้อมเสริมว่า “อุปสงค์ยังคงเติบโตก็จริง แต่ยังไปไม่ถึงระดับที่คาดหวังไว้ในปี 2564 และ 2565”
ฟอร์ดกำลังเพิ่มการผลิตและขายรถยนต์ไฮบริดอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งช่วยลดความยุ่งยากในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคที่อาจไม่พร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ นอกจากนี้แล้ว รถยนต์ไฮบริดยังช่วยให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ปฏิบัติตามมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนของรัฐบาลกลางที่เข้มงวดยิ่งขึ้นได้
ด้านเจนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิมรายแรกที่เปลี่ยนไปมาผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ตั้งใจที่จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด ควบคู่ไปกับรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน
ขณะที่ฮุนได มอเตอร์ (Hyundai Motor) เกีย (Kia) โตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) และอาจรวมถึงโฟล์คสวาเกน ได้วางแผนที่จะนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ ไว้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์รถยนต์ของตนด้วย
นายปาโบล ดิ ซี ซีอีโอของโฟล์คสวาเกนสาขาสหรัฐ กล่าวในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า เขาเชื่อว่าแนวทางที่สมดุลนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยโฟล์คสวาเกนกำลังเจรจาเพื่อแนะนำรถยนต์ไฮบริดเข้าสู่ตลาดสหรัฐ แม้ว่าในปัจจุบันรถยนต์ไฮบริดของโฟล์คสวาเกนจะมีจำหน่ายในยุโรป แต่ก็ยังไม่ได้วางจำหน่ายในสหรัฐ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 67)
Tags: EV, รถยนต์ไฟฟ้า