ศาลปกครอง ปฏิเสธกระแสข่าวเร่งรัด กทม.รื้อถอน “แอชตัน-อโศก”

สำนักงานศาลปกครอง ออกแถลงการณ์ปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่านายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งรองประธานศาลปกครองสูงสุด แสดงความคิดเห็นว่าการบังคับคดีโครงการแอชตัน-อโศกของ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เป็นเรื่องที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะต้องไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดังนั้น อีก 3 เดือนต่อจากนี้ครบกำหนดตามคำพิพากษา หากหาทางออกไม่ได้ กทม.มีหน้าที่บังคับให้เป็นไปตามกฎหมายด้วยการรื้อถอนส่วนของอาคารที่สูงเกินกว่าความกว้างของถนนให้เสร็จภายใน 90 วัน

สำนักงานศาลปกครอง ชี้แจงว่าข้อความในบทความข่าวไม่ได้มาจากการแสดงความคิดเห็นของนายประวิตร อีกทั้งไม่ตรงกับผลแห่งคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับโครงการแอชตัน-อโศก

คดีแรกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวกรวม 16 คน ฟ้องผู้อำนวยการเขตวัฒนากับพวกรวม 6 คน ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลางเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์และใบรับแจ้งการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว จึงมีผลเป็นการเพิกถอนใบรับหนังสือและใบรับแจ้งการก่อสร้างฯ โดยศาลไม่ต้องดำเนินการบังคับคดี ส่วนการดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ส่วนคดีที่ 2 สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ฟ้องผู้ว่าราชการ กทม.กับพวกรวม 3 คน ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ผู้ว่า กทม.หรือผู้อำนวยการเขตวัฒนา ใช้อำนาจตามมาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดำเนินการต่อ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด สำหรับกรณีที่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 42 ออกคำสั่งให้รื้อถอนให้ดำเนินการเฉพาะแต่ส่วนของอาคารที่ได้ก่อสร้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ สูงเกินกว่าความกว้างของทางจำเป็น 6.40 เมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ นับแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้ร้องสอดที่ 1 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้ร้องสอดที่ 2 ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารพิพาทให้เป็นตามข้อ 2 วรรคสอง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความ ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ซึ่งคดีดังกล่าว ผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม และผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ดังนั้น คำพิพากษาคดีนี้จึงยังไม่ถึงที่สุด จึงยังไม่มีการบังคับคดี

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 มี.ค. 67)

Tags: , ,
Back to Top