รมว.พาณิชย์สหรัฐชี้ไทยจะได้ประโยชน์จากแผนกระจายฐานการผลิตชิปของมะกัน

นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐกล่าวในวันนี้ (13 มี.ค.) ว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการที่สหรัฐดำเนินการกระจายความเสี่ยงด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และกล่าวเสริมว่าบริษัทอเมริกันพร้อมที่จะ “เร่งการลงทุน” ในไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในแม่เหล็กหลักของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นภาคส่วนสำคัญที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย ต้องการขยายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา

“การผลิตเซมิคอนดักเตอร์นั้นกระจุกตัวอยู่ในเพียงหนึ่งหรือสองประเทศในโลกอย่างอันตราย” นางเรมอนโดกล่าวในงานอีเวนต์ในกรุงเทพ โดยได้เน้นย้ำว่าสหรัฐจะผลักดันการลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการผลิต

ทั้งนี้ IPEF ซึ่งนำโดยสหรัฐ มีเป้าหมายส่วนหนึ่งเพื่อให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน โดย IPEF ประกอบด้วย 14 ประเทศ รวมถึงไทย

“เราทุกคนต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ นี่จะเป็นประโยชน์กับทุกคน ทั้งสหรัฐ ไทย และทุกประเทศใน IPEF ที่จะกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์” นางเรมอนโด ซึ่งจะเข้าหารือกับนายกฯ ในวันพฤหัสบดีนี้ (14 มี.ค.) กล่าว

ในปี 2565 สหรัฐได้ผ่านกฎหมายว่าด้วยชิปและวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) ซึ่งจัดสรรงบประมาณ 5.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการผลิต วิจัย และพัฒนาบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐ

รายงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ปี 2566 ระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย ซึ่งถูกครอบงำโดยบริษัทจากสหรัฐ, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์นั้น ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่กระบวนการผลิตขั้นปลาย (back-end) ทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับเวียดนามและอินเดีย

“พลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของห่วงโซ่อุปทานการผลิตทั่วโลก ซึ่งได้รับอิทธิพลจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้ดึงดูดการย้ายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มาที่ประเทศไทย” รายงานดังกล่าวระบุ

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) ยังได้เสนอสิ่งจูงใจต่าง ๆ เช่น การลดหย่อนภาษีและการยกเว้นภาษีศุลกากร เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย

“ในขณะที่บริษัทข้ามชาติของสหรัฐพิจารณาที่จะกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานของตน ประเทศไทยก็กลายเป็นสถานที่ที่ติดอันดับต้น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ” นางเรมอนโดกล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 67)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top