บรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ ต่างตกลงปรับขึ้นค่าจ้างพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษในการเจรจาค่าจ้างประจำปีหรือชุนโต (Shunto) ซึ่งอาจเป็นตัวตัดสินได้ว่าญี่ปุ่นจะสามารถจัดการกับปัญหาภาวะเงินฝืดที่เรื้อรังมายาวนานได้หรือไม่
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจเป็นการปูทางให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เริ่มดำเนินการยุตินโยบายผ่อนคลายการเงินเป็นพิเศษ โดย BOJ ระบุว่าการตัดสินใจเชิงนโยบายจะขึ้นอยู่กับผลการเจรจาค่าจ้าง
โตโยต้า ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำหนดแนวทางการเจรจาค่าจ้างประจำปี กล่าวว่าบริษัทได้ตอบสนองความต้องการของสหภาพแรงงานอย่างเต็มที่ โดยสหภาพแรงงานได้ขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2542
นิสสันก็ตกลงที่จะปรับขึ้นเงินเดือนโดยเฉลี่ย 18,000 เยน (122 ดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดของบริษัทนับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นใช้ระบบค่าจ้างแบบปัจจุบัน
ขณะที่นิปปอน สตีล คอร์ป ประกาศว่าจะเพิ่มค่าจ้างฐาน 35,000 เยนต่อเดือน ซึ่งมากกว่าที่สหภาพแรงงานขอไว้ 5,000 เยน
ด้านมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ จำกัด, มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอร์ป, คาวาซากิ เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ และเอ็นอีซี คอร์ป ยังได้กล่าวว่าตกลงที่จะปฏิบัติตามคำร้องขอของสหภาพแรงงานที่ขอปรับค่าจ้างพื้นฐานให้สูงขึ้น โดยเสนอขึ้นเงินเดือนตั้งแต่ 13,000 เยน ถึง 18,000 เยน
ทั้งนี้ การเจรจาค่าจ้างประจำปีของญี่ปุ่นเริ่มต้นขึ้นในช่วงกลางเดือนก.พ. และคาดว่าจะได้ผลสรุปในช่วงกลางเดือนมี.ค. สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะส่งผลกระทบต่อการเจรจาของบรรดาบริษัทขนาดเล็กด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 67)
Tags: ขึ้นค่าจ้าง, ญี่ปุ่น, นิสสัน มอเตอร์, ภาวะเงินฝืด, โตโยต้า มอเตอร์