วิกฤตล่าสุดที่เกิดขึ้นกับเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX กำลังทำให้ลูกค้ารายใหญ่บางรายพิจารณาแผนการเติบโตใหม่ในปีนี้ และในปีต่อ ๆ ไป ตามที่ซีอีโอของหลายสายการบินออกมาแสดงความคิดเห็นเมื่อวันอังคาร (12 มี.ค.)
ความเห็นของบรรดาซีอีโอของสายการบินต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าผู้ซื้อหลักของโบอิ้งรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับผลกระทบของปัญหา ซึ่งรวมถึงปัญหาในการควบคุมคุณภาพที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความล่าช้าในการเพิ่มการผลิตเครื่องบิน และปัญหาในการได้รับการรับรองเครื่องบินลำใหม่ ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดหลายปี
สายการบินเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ (Southwest Airlines) ซึ่งเครื่องบินทั้งหมดในฝูงบินคือเครื่องบินโบอิ้ง 737 ได้ปรับลดการคาดการณ์จำนวนเที่ยวบินในปี 2567 และกำลังประเมินแนวโน้มทางการเงินในปี 2567 อีกครั้ง โดยทางสายการบินระบุว่าการส่งมอบเครื่องบินโบอิ้งจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ โดยคาดว่าจะได้รับเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX เพียง 46 ลำ จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 79 ลำ
ด้านนายบ็อบ จอร์แดน ซีอีโอของเซาท์เวสต์ แอร์ไลน์ กล่าวในการประชุมอุตสาหกรรมของเจพี มอร์แกน เมื่อวันอังคาร (12 มี.ค.) ว่า “โบอิ้งจำเป็นต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นในฐานะบริษัท และการส่งมอบเครื่องบินจะเป็นไปตามนั้น”
ส่วนสายการบินอลาสกา แอร์ไลน์ส (Alaska Airlines) ประกาศว่าการคาดการณ์จำนวนเที่ยวบินในปี 2567 นั้นยังไม่แน่นอน เนื่องจากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับระยะเวลาในการส่งมอบเครื่องบิน หลังจากที่โบอิ้งและการดำเนินงานของบริษัทถูกตรวจอย่างเข้มงวดจากสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐดำเนินการตรวจสอบโบอิ้งและการดำเนินงาน
ด้านนายสก็อตต์ เคอร์บี ซีอีโอของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส (United Airlines) กล่าวในที่ประชุมเดียวกันว่า ได้ขอให้โบอิ้งหยุดการผลิตเครื่องบิน Max 10 ให้กับทางสายการบิน เนื่องจากยังไม่ได้รับการรับรองจาก FAA และแจ้งให้ผลิตเครื่องบิน Max 9 ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นรุ่นที่สายการบินใช้ปฏิบัติการอยู่แล้ว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ส ได้แจ้งแก่พนักงานว่าจำเป็นต้องหยุดจ้างนักบินชั่วคราวในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ เนื่องจากความล่าช้าในการส่งมอบเครื่องบิน จนทำให้มีเครื่องบินไม่พอที่จะจ้างนักบินเพิ่ม
ทั้งนี้ บรรดาผู้บริหารสายการบินรู้สึกไม่พอใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากวิกฤตล่าสุดของโบอิ้ง ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเหตุเครื่องบิน 737 MAX 9 ของสายการบินอลาสกา แอร์ไลน์ เกิดผนังเครื่องบินหลุดกลางอากาศเมื่อเดือนม.ค. เหตุการณ์นี้ทำให้โบอิ้งถูกเพ่งเล็งมากขึ้น และการสอบสวนเบื้องต้นโดยคณะกรรมการความปลอดภัยการขนส่งแห่งชาติ เผยว่าสลักเกลียวบนผนังเครื่องบินไม่ได้ถูกขันให้แน่นอย่างถูกต้องเมื่อเครื่องบินออกจากโรงงานของโบอิ้งในรัฐวอชิงตัน
ล่าสุดสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐพบ “ปัญหามากมาย” ที่โรงงานของโบอิ้งและซัพพลายเออร์รายสำคัญของบริษัทอย่างสปิริต แอโรซิสเต็มส์ (Spirit AeroSystems) หลังจากที่ได้ตรวจสอบการผลิตเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max เป็นเวลา 6 สัปดาห์
สไลด์นำเสนอภายในของ FAA โดยเผยให้เห็นภาพรวมคร่าว ๆ ของปัญหามากมายที่ผู้ตรวจสอบได้พบเจอ ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ความล้มเหลวในการปฏิบัติตาม “กระบวนการผลิตที่ผ่านการรับรอง” และความล้มเหลวในการเก็บรักษาเอกสารขั้นตอนการควบคุมคุณภาพอย่างเหมาะสม
ผู้ตรวจสอบของ FAA พบว่า จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 89 ครั้ง โบอิ้งผ่านการทดสอบ 56 ครั้ง และไม่ผ่าน 33 ครั้ง
นอกจากนี้ ระหว่างการตรวจสอบระยะเวลา 6 สัปดาห์ FAA ยังได้ดำเนินการตรวจสอบที่มุ่งเป้าไปยังบริษัทสปิริต แอโรซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตลำตัวเครื่องบินให้กับโบอิ้ง 737 MAX รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง และพบว่ามีเพียง 6 ครั้งเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์ และ 7 ครั้งที่ไม่ผ่าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 67)
Tags: สายการบิน, เที่ยวบิน, โบอิ้ง 737 Max