จานัส เฮนเดอร์สัน (Janus Henderson) ซึ่งเป็นบริษัทจัดการสินทรัพย์จากอังกฤษเปิดเผยรายงานดัชนีเงินปันผลโลก (The Global Dividend Index) ในวันนี้ (13 มี.ค.) บ่งชี้ว่า บริษัททั่วโลกจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นรวมแล้วสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566
รายงานระบุว่า การจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ในไตรมาส 4/2566 การจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้น 7.2% จากไตรมาสก่อนหน้า
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ข้อมูลดังกล่าวได้รับการปรับค่าจากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน, เงินปันผลพิเศษที่จ่ายครั้งเดียว และปัจจัยทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับปีปฏิทิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงไปของดัชนีเงินปันผลโลก
รายงานระบุว่า ภาคธนาคารคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการเติบโตของเงินปันผลทั้งหมดของโลก โดยภาคธนาคารจ่ายเงินปันผลสูงเป็นประวัติการณ์เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงได้หนุนกำไรให้กับธนาคาร
ในปีที่ผ่านมา ธนาคารรายใหญ่ เช่น เจพีมอร์แกน เชส, เวลส์ ฟาร์โก, มอร์แกน สแตนลีย์ ได้ประกาศแผนเพิ่มเงินปันผลรายไตรมาส หลังผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งกำหนดว่าธนาคารต่าง ๆ จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้มากเพียงใด
“นอกจากนี้ ผลจากความพยายามในการก้าวข้ามโรคโควิด-19 ทำให้การจ่ายเงินปันผลพลิกฟื้นอย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งหลัก ๆ จะเห็นได้จากเอชเอสบีซี” รายงานของจานัส เฮนเดอร์สันระบุ
“ธนาคารในตลาดเกิดใหม่คิดเป็นสัดส่วนสำคัญของการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว แม้ไม่นับรวมธนาคารในจีนก็ตาม”
อย่างไรก็ตาม จานัส เฮนเดอร์สันระบุว่า ผลในเชิงบวกจากการจ่ายเงินปันผลของธนาคารได้ถูกหักล้างจนเกือบหมดจากการที่ธุรกิจเหมืองแร่ปรับลดการจ่ายเงินปันผลลง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มี.ค. 67)
Tags: ดอลลาร์สหรัฐ, ผู้ถือหุ้น, สินทรัพย์, เงินปันผล