นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ผลักดันให้ภาคการเงินสนับสนุนภาคเอกชนให้ปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ที่จะช่วยให้ไทยปรับตัวได้อย่างยั่งยืน ในหลัก A B C ได้แก่
– Alignment (A) คือ เป้าหมายและแผนการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
– Balance (B) คือ การรักษาสมดุลระหว่างการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาเพื่อรับมือกับอนาคต
– Collaboration (C) คือ การสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
แต่เนื่องด้วยบริบทของไทย ภาคเอกชนยังมีความตระหนักและความพร้อมในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ดังนั้น การมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินตัวอย่างที่ตอบโจทย์การปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมในบริบทไทย จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจเริ่มปรับตัว และสามารถขยายผลเป็นวงกว้างขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs
นายรณดล กล่าวว่า ธปท. ส่งเสริมให้สถาบันการเงินสนับสนุนภาคธุรกิจของไทย สามารถปรับตัวได้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ ในการพิจารณาออกผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน (Transition Finance Product) ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจในการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะกำหนดให้สถาบันการเงิน ส่งแผนกลับมาให้ ธปท.ได้พิจารณา ภายในปลายไตรมาส 2 หรือไม่เกินต้นไตรมาส 3 ปีนี้
“เราคาดหวังให้สถาบันการเงินตอบโจทย์ธุรกิจ ในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นสีเขียวมากขึ้น เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่จะให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่แต่ละแห่ง ออกมาเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจที่อยากปรับเปลี่ยน less brown ตอนนี้กำลังคุยกัน จะให้ส่งแผนมาปลายไตรมาส 2 ต้นไตรมาส 3” รองผู้ว่าฯ ธปท. ระบุ
ส่วนในปี 2568 ธปท. คาดหวังว่าจะเห็นสถาบันการเงิน จัดทำ Transition Plan ซึ่งเป็นแผนที่ต้องระบุเป้าหมาย การดำเนินการ และกรอบเวลาในการปรับธุรกิจ เพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่สถาบันการเงินขนาดใหญ่ จะต้องหยิบยกภาคธุรกิจขึ้นมา 1 sector เพื่อนำมาจัดทำเป็นแผนระยะยาว
“จะเป็นแผนที่แต่ละสถาบันการเงิน จะต้องหยิบภาคอุตสาหกรรมที่คิดว่าอยากจะทำขึ้นมาก่อน เราขอไปแค่ 1 sector ต้องวางแผนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ว่าจะช่วยอุตสาหกรรมนั้นอย่างไร ที่จะทำให้เขาไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งความพร้อม การลงทุน การปรับเปลี่ยนกิจกรรม แบงก์ละ 1 อุตสาหกรรม” นายรณดล กล่าว
นายรณดล กล่าวว่า ในมุมมองของ ธปท. การที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องทำให้สมดุลกัน เพื่อการเติบโตไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน เพราะหากก้าวเร็วไป ก็อาจจะเป็นการทอดทิ้งคนที่ยังไม่มีความพร้อม แต่หากทำช้าไป ก็อาจจะเกิดความเสี่ยงต่อสภาะแวดล้อม ดังนั้นการทำให้เกิดสมดุลในเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับบทบาทของ ธปท. มีความคืบหน้าสำคัญ คือ
1) ออกแนวนโยบาย (standard practice) ให้สถาบันการเงินผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการดำเนินธุรกิจ และร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทยจัดทำ industry handbook เพื่อใช้อ้างอิงแนวปฏิบัติ
2) ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 สำหรับภาคพลังงานและการขนส่ง แล้วเสร็จในปีที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างจัดทำ Taxonomy ระยะที่ 2 สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงในพอร์ตของตนได้อย่างเป็นระบบ
นายรณดล กล่าวด้วยว่า ในอนาคตความท้าทายสำคัญ คือ การจัดเก็บข้อมูลชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนให้ภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกันและเกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงมีนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐที่ชัดเจน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มี.ค. 67)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ธุรกิจ, ผลิตภัณฑ์การเงิน, รณดล นุ่มนนท์, สิ่งแวดล้อม